แนวทางการเสริมพลังการมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คำสำคัญ:
การเสริมพลังการมีส่วนร่วม, การจัดการภัยพิบัติ, ภาวะน้ำท่วมบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทชุมชนและสถานการณ์ 2) ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยในการเสริมพลังการมีส่วนร่วม และ 3) ศึกษาแนวทางการเสริมพลังการมีส่วนร่วมการจัดการภัยพิบัติอุทกภัยพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มเป้าหมาย 48 คน ได้แก่ ผู้นำท้องที่หรือชุมชน อปท.ในพื้นที่ และประชาชน อย่างละ 16 คน คัดเลือกแบบเจาะจงโดยใช้เทคนิคสโนว์บอล รวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม โดยแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและแบบสนทนากลุ่ม จากนั้นจัดกลุ่มข้อความ สร้างกราฟนำเสนอ สรุปผลการวิจัยด้วยการวิเคราะห์ข้อความ
ผลการวิจัยคือ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2518, 2531 ล่าสุด คือ ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่มีผลกระทบรุนแรงมากที่สุด โดยการจัดการน้ำท่วมนั้นพบปัญหาทั้งก่อน ระหว่าง หลัง และในการฟื้นฟูสถานการณ์ ซึ่งต้องปรับปรุงโดยผู้มีส่วนได้เสียต้องประสานพลังกันอย่างแนบแน่น ตามองค์ประกอบการเสริมพลังอำนาจ คือ การรับรู้ความสามารถของตน การตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมในองค์กร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรม และการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งนี้ แนวทางการเสริมพลังอำนาจของประชาชนในการจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรส่งเสริมการมีจิตสาธารณะ ซึ่งจะมีผลในการทำให้ปัจจัยที่จำเป็นในการช่วยเสริมพลังอำนาจของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และนอกจากนี้ยังควรนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาผสมผสานเข้ากันกับแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันเพื่อใช้กับการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่