ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง บ้านทุ่งโก

ผู้แต่ง

  • ณัฐวดี บุญครอง
  • อธิมาตร เพิ่มพูน
  • วันชัย สุขตาม

คำสำคัญ:

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ, วิสาหกิจชุมชน, เกษตรอินทรีย์, วิถีพอเพียง

บทคัดย่อ

            บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทสภาพทั่วไปและปัจจัยสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง บ้านทุ่งโก ตำบลหนองเมธี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ ผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย ได้แก่ การศึกษาเอกสาร การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาและวิเคราะห์เนื้อหานำข้อมูลมาสรุปและเสนอแนะ

ผลการวิจัย พบว่า 1) บริบทสภาพทั่วไปของชุมชน บ้านทุ่งโก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองเมธี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีระยะทางห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 45 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในชุมชน 205 ครัวเรือน ประชากรรวม 907 คน แยกเป็นชาย 444 คน และหญิง 463 คน คนพิการทั้งหมด 84 คน ช่วยเหลือตัวเองได้ 69 คน ได้บ้าง 6 คน และไม่ได้เลย 9 คน เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีแผนชุมชนตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกอบด้วยโครงสร้างของคณะกรรมการหมู่บ้านจากทุกภาคส่วนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จำนวน 20 คน ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายแผนพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายส่งเสริมเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ในขณะเดียวกันบ้านทุ่งโกเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานระดับหนึ่งซึ่งพบได้จากหลักฐานาทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอันเป็นแหล่งสั่งสมซึ่งองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่าง ๆ สภาพภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านที่มีลำห้วย หนองน้ำขนาดใหญ่เล็กโดยรอบพื้นที่ของหมู่บ้าน รวมถึงป่าชุมชนที่อยู่ควบคู่กับหมู่บ้านมาอย่างช้านาน ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ออกเป็นประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และ 2) ปัจจัยสู่ความสำเร็จต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง พบว่า มีทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ปัจจัยการมีส่วนร่วมและการยอมรับของชุมชนเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) บุคลากรที่มีส่วนร่วมของชุมชนเป้าหมาย (2) ทรัพยากรที่ชุมชนร่วมให้การสนับสนุน (3) กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเป้าหมาย(4) กระบวนการที่ทำให้ชุมชนเป้าหมายยอมรับ 2) กระบวนการที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประกอบด้วย (1) กระบวนการที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง (2) วิธีการที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลง (3) เครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ (4) ข้อมูลที่ต้องใช้ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง และ 3) ความรู้หรือความเชี่ยวชาญที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย (1) ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน (2) ความรู้หรือความเชี่ยวชาญของชุมชนในพื้นที่

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

20-06-2022

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)