การจัดการเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
คำสำคัญ:
การจัดการเครือข่ายการสื่อสาร, ธรรมะสู่ดวงใจ, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) รูปแบบการจัดการเครือข่ายการสื่อสาร 2) การธํารงรักษาเครือข่ายการสื่อสาร 3) แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร และ 4) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึก เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจฯ รวมทั้งสิ้น 27 คน โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 7 คน ได้แก่ 1) พระที่เป็นฝ่ายบริหารของวัด จำนวน 2 รูป 2) พระที่อยู่ในเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจ จำนวน 5 รูป และทำการสนทนากลุ่ม จำนวน 20 คน ได้แก่ 1) พุทธศาสนิกชนในเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจผู้ซึ่งทำวัตรสวดมนต์แปลเป็นประจำ จำนวน 10 คน 2) สมาชิกเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ “วัดระฆังโฆสิตาราม ครอบครัวบุญธรรมะสู่ดวงใจ” จำนวน 10 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการสร้างข้อสรุป
ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการจัดการเครือข่ายการสื่อสารของโครงการธรรมะสู่ดวงใจของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารเป็นเครือข่ายเชิงประเด็นกิจกรรม ได้แก่ การสวดมนต์ การบรรพชาสามเณร ภาคฤดูร้อน เป็นปัจจัยหลักในการรวมกลุ่มองค์การ ซึ่งสมาชิกของเครือข่ายในโครงการธรรมะสู่ดวงใจเป็นลักษณะรูปแบบเครือข่ายใกล้ชิด 2) การธํารงรักษาเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจดำเนินการผ่านกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยทุกกิจกรรมที่ดำเนินการมุ่งเน้นการรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกเครือข่าย มีกลไกสร้างระบบจูงใจอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรม การสร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมบริจาค และมีการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับสมาชิกในเครือข่าย รวมทั้งมีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง 3) แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร การสื่อสารของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารโดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาการสื่อสารซึ่งมีกองงานเผยแผ่ธรรมะสู่ดวงใจทำหน้าที่ที่รับผิดชอบในการเป็นแกนกลางที่ทำให้เครือข่ายสามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยใช้การสื่อสารแบบหลายช่องทางผ่าน “สื่อใหม่” เพื่อทำให้เกิดการเสวนา และการแลกเปลี่ยนความรู้ได้ตลอดเวลาผ่านสื่อใหม่ ได้แก่ กลุ่มไลน์วัดระฆังโฆสิตารามครอบครัวบุญ “ธรรมะสู่ดวงใจ” เฟซบุ๊กธรรมะสู่ดวงใจ เฟซบุ๊กกองงานเผยแผ่ธรรมะสู่ดวงใจ เฟซบุ๊กวัดระฆังโกสิตาราม เว็บไซต์ http://www.watrakang.com เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมในโอกาสต่างๆ และ 4) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเครือข่ายการสื่อสารธรรมะสู่ดวงใจของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ได้แก่ การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้สมาชิกมาร่วมงานได้ในจำนวนที่จำกัด การจัดกิจกรรมที่มีระยะเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองกำหนดบางกิจกรรมต้องงด และสมาชิกในเครือข่ายมีความคิดเห็นการจัดกิจกรรมในการสื่อสารที่ไม่ตรงกันแต่สมาชิกมีการปรับตัวเข้าหากันได้