ประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดปทุมธานี
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง, การมีส่วนร่วม, หลักธรรมาภิบาล, ประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีบทคัดย่อ
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 400 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multiple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มี 4 ตอน ได้แก่ แบบสอบถามสถานภาพส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยด้านภาวะผู้นำ แบบสอบถามปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และแบบสอบถามประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดี ค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item Objective Congruence : IOC) อยู่ระหว่าง 0.6 – 1.00 และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance) และวิธีการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นพหุคูณ (Multiple Linear Regression Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยการมีส่วนร่วม และประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล โดยรวมอยู่ในระดับมาก และพบว่า ปัจจัยด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การคำนึงถึงปัจเจกบุคคล การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างบารมี การกระตุ้นทางปัญญา และปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากการดำเนินการ การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ การมีส่วนร่วมค้นหาปัญหา การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามผล การมีส่วนร่วมการวางแผน