การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการศึกษา : เพื่อก้าวสู่ การศึกษาไทยแลนด์ 4.0 ให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
คำสำคัญ:
การพัฒนา, การศึกษาไทยแลนด์ 4.0, ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน, นโยบายการศึกษาบทคัดย่อ
นโยบายการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดไปได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และความพร้อมของโรงเรียน ซึ่งเป็นประเด็นที่มักมีการนำมาผูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยในส่วนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หากพิจารณาตามแนวคิดของทฤษฎีระบบ (System theory) ถือได้ว่าเป็นประสิทธิผลของการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ส่วนความพร้อมเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่างๆ ทั้งบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับการศึกษาไทยแลนด์ 4.0 เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดขึ้น โดยมีจุดเน้นสำคัญเกี่ยวกับการที่ผู้เรียนนอกจากจะได้รับความรู้แล้ว ยังจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิต และทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมสร้างสรรค์
ดังนั้น บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านความพร้อมของโรงเรียนและแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่การศึกษาไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้สามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยผู้วิจัยได้ใช้การวิจัยเอกสาร (Documentary research) ทบทวนวรรณกรรมแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงนำเสนอการพัฒนานโยบายการศึกษาไทยใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 แนวทางในการแก้ไขปัญหาความพร้อมของโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนวทางออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ 1) มิติความพร้อมของนักเรียน 2) มิติความพร้อมของโรงเรียน 3) มิติความพร้อมของครอบครัวและชุมชนแวดล้อม ในส่วนของประเด็นที่ 2 แนวทางการพัฒนานโยบายการศึกษาไทยให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management : NPM) มาเป็นกรอบในการเสนอโมเดลเพื่อการพัฒนา ซึ่งต้องประกอบด้วย องค์ประกอบที่ 1 : แนวคิดพื้นฐานด้านการจัดการภาครัฐแนวใหม่ องค์ประกอบที่ 2 : ภูมิปัญญาหกเหลี่ยมเพื่อการเปลี่ยนแปลง และองค์ประกอบที่ 3 : ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์สูงสุด