การจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์สู่ความเป็นเลิศ: บทสะท้อนจากโครงการลดความขัดแย้ง สร้างบ้านเมืองมั่นคง เพื่อคนไร้บ้าน และโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ผู้ด้อยโอกาส
คำสำคัญ:
นวัตกรรม, นวัตกรรมท้องถิ่น, การจัดการนวัตกรรมท้องถิ่น, ความเป็นเลิศบทคัดย่อ
บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 4 ประการคือ 1) เพื่อนำเสนอถึงลักษณะของนวัตกรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 2) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบ วิธีการ และผลของการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นของโครงนวัตกรรมท้องถิ่นดังกล่าว 3) เพื่ออธิบายถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และ4) เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา และอุปสรรค รวมตลอดทั้งแนวทางแก้ไขในการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จากผลของการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ลักษณะของนวัตกรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นอย่างมากของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ประกอบด้วยโครงการนวัตกรรมท้องถิ่น จำนวน 2 โครงการคือ โครงการลดความขัดแย้ง สร้างบ้านเมืองมั่นคง เพื่อคนไร้บ้าน และโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ผู้ด้อยโอกาส การจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นมีรูปแบบและวิธีการดำเนินงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบตามลำดับขั้นตอน ขณะที่ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ประกอบด้วยปัจจัยด้านนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น ปัจจัยด้านภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และปัจจัยด้านความต่อเนื่องของนวัตกรรมท้องถิ่น ส่วนปัญหา และอุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดของการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ การไม่สนใจต่อการพัฒนาตนเองของผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ เป็นต้น ขณะที่แนวทางที่ทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ใช้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาและอุปสรรคสำคัญได้แก่ เทศบาลมีการกำหนดนโยบายและเข้าไปจัดการหาที่อยู่ให้โดยวิธีการตามแนวทาง“บ้านมั่นคง” และการส่งเสริมอาชีพ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น