การบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุตามหลักภาวนา 4 ของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี

ผู้แต่ง

  • Sakorn Luengaon

คำสำคัญ:

ผู้สูงอายุ, การบริหารงานสาธารณสุข, ตามหลักภาวนา 4

บทคัดย่อ

          บทความวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรีจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี การศึกษาวิจัยครั้งนี้ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ จากแบบสอบถาม (Questionnaire) ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึก กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี จำนวนทั้งสิ้น 9,457 คน ซึ่งใช้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง โดยการใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ได้กลุ่มตัวอย่าง 384 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างเป็นสำคัญน้อยที่สุด และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท ผลการวิจัยพบว่า

          1) การบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกเป็นรายด้านสามารถเรียงลำดับความคิดเห็นของประชาชนได้ ดังนี้ ด้านปัญญาภาวนา มีค่าเฉลี่ย รองลงมา คือ ด้านกายภาวนา และที่อยู่ในระดับต่ำสุดคือ ด้านจิตภาวนา

          2) เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ, อายุ, ระดับการศึกษา, รายได้ต่อเดือน พบว่า ประชาชนที่มีเพศ, ระดับการศึกษา, รายได้ต่อเดือนต่างกัน มีความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพุทธในองค์การบริหารส่วนตำบลเพ จังหวัดระยอง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุมีความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพุทธในองค์การบริหารส่วนตำบลเพ จังหวัดระยอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05

          3) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางการนำการบริหารงานสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี

          ปัญหาและอุปสรรคด้านกายภาวนา คือ ความเคยชินในการรับประทานอาหารทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยากมากที่สุด ผู้สูงอายุไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย สถานะที่ยากจนจึงไม่สามารถเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองได้ ด้านศีลภาวนา  คือผู้สูงอายุบางคนมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูลูกหลานจึงไม่มีเวลาในการร่วมกิจกรรม ด้วยร่างกายที่เสื่อมถอยจึงไม่สะดวกเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมในบางกิจกรรมได้ผู้สูงอายุบางคนรักสันโดษไม่ต้องการร่วมกิจกรรมในสังคม ด้านจิตภาวนา คือ ด้วยภาระหน้าที่การงานของคนในครอบครัวทำให้มีเวลาว่างไม่ตรงกัน ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่าในสังคม ผู้สูงอายุมีความกังวลว่าจะเป็นภาระต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ปัญญาภาวนา  คือ ผู้สูงอายุปฏิเสธการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการสื่อสารยุคปัจจุบันมากที่สุด บางครั้งการเสนอความคิดต่าง ๆ ไปก็ไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนักความรู้ดั้งเดิมที่มีบางครั้งไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันได้

          ข้อเสนอแนะ ด้านกายภาวนา คือ สร้างวัฒนธรรมการรับประทานอาหารโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมมาประยุกต์ใช้ สร้างกลุ่มผู้สูงอายุในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย การจัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขเชิงรุกเพื่อเข้าถึงตัวผู้สูงอายุมากขึ้น ด้านศีลภาวนา คือ ส่งเสริมกิจกรรมการปฏิบัติธรรมในแต่ละสัปดาห์ ส่งเสริมภาวะผู้นำในการอยู่ร่วมในสังคม ด้วยการยอมรับและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติในแง่บวกในการดำรงชีวิต ด้านจิตภาวนา คือ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมวันครอบครัว เพื่อสร้างความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด การให้ความรู้เกี่ยวกับหลักพุทธธรรมต่างเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ด้านปัญญาภาวนา คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสาร และคุณประโยชน์ที่ได้รับในการอำนวยความสะดวกในการสื่อสารการกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน หรือบุตรหลาน ส่งเสริมกิจกรรมในการสร้างขวัญ กำลังใจ และความเชื่อมั่นในตนเองของผู้สูงอายุต่อความรู้ ความสามารถที่ผู้สูงอายุมีอยู่ในการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม สร้างความมีส่วนร่วมในการจัดเก็บองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

29-04-2019

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)