การพัฒนาระบบบริการในการมีส่วนร่วมของชุมชนและทีมสหสาขาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์ของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ครั้งนี้เพื่อศึกษา 1) การวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2) พัฒนารูปแบบ HRNP Model โดยใช้กระบวนการการเสริมสร้างพลังอำนาจ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และ 3) ศึกษาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การรับรู้ภาวะสุขภาพ และภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองภายหลังการใช้ HRNP Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ประกอบด้วย 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ต.ปากแพรก อ.เมือง จ. กาญจนบุรี จำนวน 54 คนเลือกแบบสมัครใจ 2) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 44 คน เลือกแบบเฉพาะเจาะจง และ 3) ทีมสหสาขา จำนวน 19 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล และเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ 1) HRNP model เป็นโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน 2) คู่มือสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 3) แบบบันทึกการฝึกการออกกำลังกายรายวัน และแบบสอบถามกึ่งโครงสร้างเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการและภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติที t-test และข้อมูลเชิงคุณภาพนำมาวิเคราะห์ประเด็นหลัก
ผลการวิจัยพบว่า 1) การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก่อนและหลังได้โปรแกรมฯ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยการรับรู้ภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก่อนและหลังได้รับโปรแกรมฯ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) จากการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการและภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าระบบการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนมากไม่ได้รับบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ บริการที่ได้รับไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมกับสภาพปัญหาและความต้องการ ระบบการติดตามยังไม่ทั่วถึง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความยากลำบากในการไปรับบริการที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความต้องการด้านกายอุปกรณ์และเศรษฐกิจ ทีมวิจัยได้นำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาไปดำเนินงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ หลังจากให้บริการพบว่าด้านภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง