การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและภาคประชาชนต่อต้านการทุจริตขององค์กรชุมชน กรณีศึกษา: ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากระบวนการและวิธีการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ปัจจัยหลักของความสำเร็จ ที่เอื้อหรือก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริตของชุมชน และ 2) ศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและภาคประชาชนต่อต้านการทุจริตในองค์กรชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ได้แก่ ตัวแทนผู้นำชุมชน จำนวน 6 คน และตัวแทนสมาชิกในชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 12 คน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น เครื่องมือการวิจัยใช้แบบสัมภาษณ์ ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัยด้วยวิธีการหาค่าความเที่ยงตรง โดยการให้คณะผู้เชี่ยวชาญดูในภาพรวมด้านเนื้อหาภาษาและความครอบคลุม และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการลงพื้นที่วิจัยสัมภาษณ์เชิงลึก และสนทนากลุ่ม จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ จากข้อมูลปฐมภูมิภาคสนาม มาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จดบันทึกและลงรหัสข้อมูล มาวิเคราะห์ข้อมูลตามกรอบแนวคิดของการวิจัย แล้วนำเสนอข้อมูลในรูปแบบการเขียนบรรยายผลและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการและวิธีการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เกิดจากการประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิกชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในพื้นที่ของตน ซึ่งมีการเข้าร่วมในรูปแบบจิตอาสา จนเกิดเป็นองค์กรชุมชนเพื่อต่อต้านการทุจริต ทั้งนี้ ปัจจัยหลักของความสำเร็จ ที่ทำให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อต่อต้านการทุจริต ในเขตเทศบาลตำบลกลางหมื่น ประกอบด้วย ศักยภาพนโยบายผู้นำ กลไกการตรวจสอบ และการสนองตอบความต้องการของประชาชน และ 2) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต โดยสมาชิก ในชุมชนควรพึงตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ของตน ถือปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ เน้นการสร้างความสามัคคี และแนะนำแนวทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงเรื่องของการทำความเข้าใจว่าจะสามารถนำตัวแบบนี้ไปใช้ได้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ชุมชนของตนได้หรือไม่ เนื่องจากบริบทของแต่ละสถานที่ย่อมมีความแตกต่างกัน