คุณภาพชีวิตในการทำงานกับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน มหาวิทยาลัยสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยนครพนม
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานต่อระดับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยนครพนม 2) ศึกษาความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยนครพนม จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตในการทำงานกับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยนครพนม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นบุคลากรสายสนับสนุนที่ปฏิบัติงาน จำนวน 121 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณภาพชีวิตในการทำงานของบุคลากรสายสนับสนุน โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านความภาคภูมิใจในองค์กร และค่าเฉลี่ยที่น้อยสุด คือ ด้านสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ส่วนระดับความผูกพันของพนักงานสายสนับสนุนในภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ ความผูกพันด้านบรรทัดฐานของสังคมและองค์กร รองลงมาความผูกพันด้านความต่อเนื่องและทุ่มเท และค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ความผูกพันด้านความต่อเนื่องและทุ่มเท 2) ความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ที่มี เพศ อายุ การศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ตำแหน่งที่ปฏิบัติ และรายได้ มีความผูกพันต่อองค์กรไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนสถานภาพการสมรส และหน่วยงานที่ปฏิบัติงานมีความผูกพันต่อองค์กรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตในการทำงานมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน พบว่าคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยรวมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผูกพันต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r =.578) พิจารณาคุณภาพชีวิตเป็นรายด้าน พบว่า คุณภาพชีวิตในการทำงานทุกด้านมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผูกพันต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตการทำงานด้านต่างๆ กับความผูกพันต่อองค์กร พบว่า ด้านความภาคภูมิใจในองค์กร (r =.485) มีความสัมพันธ์มากกว่าด้านอื่น รองลงมาเป็นด้านความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน (r =.465) ส่วนด้านที่มีความสัมพันธ์กันน้อยกว่าด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านความก้าวหน้าและความมั่นคงในงาน (r =.285)