ความมั่นคงของครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นในภาคอีสานไปทำงานต่างประเทศ

Main Article Content

ปิยพงษ์ บุญกว้าง
ดุษฎี อายุวัฒน์

Abstract

     ปัจจุบันสถานการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานอีสานย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ จากสถิติผู้ยื่นความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศปี พ.ศ. 2556 มีถึง 132,442 คน เป็นเพศชาย 102,605 คน  คิดเป็นร้อยละ 77.47 และเพศหญิง 29,837 คน คิดเป็นร้อยละ 22.53 (สำนักงานบริหารแรงงานไปไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน, 2556) ผลกระทบจากการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย พบว่ามีทั้งผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบ ทั้งนี้เป็นผลมาจากตัวแรงงานในด้านของพฤติกรรมการทำงาน การใช้ชีวิตในถิ่นปลายทาง รวมถึงครัวเรือนในถิ่นต้นทาง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อความมั่นคงของครัวเรือนของแรงงาน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความมั่นคงของครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นในภาคอีสานไปทำงานต่างประเทศ 2) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงของครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นในภาคอีสานไปทำงานต่างประเทศ ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ ในพื้นที่วิจัย 3 จังหวัด คือ ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น และตำบลโคกมั่งงอย จังหวัดชัยภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลระดับครัวเรือนด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง จำนวน 428 ครัวเรือน วิเคราะห์ข้อมูลระดับตัวแปรด้วยสถิติพรรณนา วิเคราะห์ข้อมูลระดับสองตัวแปรด้วยสถิติ Chi-square
     ผลการวิจัย พบว่า ครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นในภาคอีสานไปทำงานต่างประเทศส่วนใหญ่มีระดับความมั่นคงของครัวเรือนอยู่ในระดับปานกลาง ถึงร้อยละ 62.2 มีครัวเรือนแรงงานเพียงร้อยละ 33.4 เท่านั้นที่มีความมั่นคงของครัวเรือน   ในระดับสูง โดยมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 77.8 ความมั่นคงด้านสังคมในระดับปานกลาง ร้อยละ 53.5 ความมั่นคงด้านการศึกษาในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 49.8 ความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับสูง ถึงร้อยละ 68.9 และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงของครัวเรือนประกอบด้วยปัจจัยด้านคุณลักษณะของครัวเรือนและปัจจัยด้านแรงงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เป็นความสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)