การศึกษาสถานการณ์การค้าของผู้ประกอบการบริเวณ ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษา 1) ข้อมูลทั่วไปของผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 2) ข้อมูลโลจิสติกส์เบื้องต้นของสินค้าที่ผู้ประกอบการจำหน่าย 3) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าชายแดนด่านช่องจอม 4) วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจที่ประกอบการบริเวณด่านช่องจอม และ 5) ความสามารถในการแข่งขันของด่าน ช่องจอม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ประชากรในการศึกษาคือ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าในด่านช่องจอม และจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ สุ่มตัวอย่างแบบทราบจำนวนประชากรขนาดเล็ก เก็บแบบสอบถามจากผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย ในเดือนกรกฎาคม 2559 และวิเคราะห์ผลด้วยสถิติเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ประกอบกิจการไม่เกิน 5 ปี สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นจำพวก จักรยาน เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในครัว 2) การขนส่งวัตถุดิบหรือสินค้าส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว จัดเก็บไว้ที่ร้านค้า และวางขายหน้าร้านเป็นส่วนใหญ่ 3) ปัจจัยที่มีผลต่อการค้าชายแดนระดับสูง คือ การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองในประเทศ กฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ ความไม่สงบบริเวณชายแดน และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 4) จุดแข็งและโอกาสของธุรกิจคือ สินค้าราคาไม่แพง มีความหลากหลาย ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ จุดอ่อนและอุปสรรค ได้แก่ ขาดทักษะด้านภาษา ขาดประสบการณ์ในการค้า 5) ผลการวิเคราะห์ตัวแบบเพชรซึ่งเกิดจากการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิและแบบสอบถาม ในเงื่อนไข ด้านอุปสงค์ พบว่า ลูกค้าในประเทศมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้ากัมพูชาลดลง ด้านเงื่อนไขปัจจัยการผลิตพบว่า สินค้าหลากหลาย ราคาถูก แต่ขาดการนำเทคโนโลยีมาใช้ ด้านการแข่งขันและกลยุทธ์ พบว่า มีการรวมตัวกันในธุรกิจเดียวกันแต่ก็ยังมีการแข่งขันเน้นเรื่องราคา ด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงและด้านรัฐบาล พบว่า มีการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งสองประเทศและจังหวัดสุรินทร์ได้รับการส่งเสริมให้เป็นตลาดอาเซียน แต่รัฐก็เพิ่มมาตรการจัดระเบียบการค้าชายแดน และเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า
Article Details
References
กาญจนา ธรรมาวาท. (2545). วิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
จาตุรงค์ เพ็งพรนัฒน์ มาลี ไชยเสนา และสุวภัทร ศรีจองแสง. (2560). ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณจังหวัดศรีสะเกษภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 7(1) : 81-89.
ณัฏฐ์ธนิน เอื้อศิลป์. (2560). แสดงบรรยากาศของประตูทางเข้าด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย : มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย.
. (2560). แสดงสินค้าหัตถกรรมที่จำหน่ายในบริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย.
มณีรัตน์ การรักษ์. (2558). การพัฒนาตลาดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชากรณีศึกษาตลาดการค้าชายแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 5(1) : 35-43.
เรวดี แก้วมณี. (2556). แนวโน้มการค้าชายแดนสดใส โอกาสของภาคอุตสาหกรรมภายใต้ยุคค่าเงินบาทผันผวน. สืบค้นเมื่อพฤษภาคม, 2560, จาก; http://www.oie.go.th/sites/default/files/attachments/article /trendbordertrade-june2556.pdf.
ศูนย์ปฏิบัติการร่วมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถานบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557). การค้าตามแนวชายแดนของจังหวัดสุรินทร์. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Jinachai, N., Anantachoti, P., & Winit-Watjana, W. (2016). Exploring competitiveness of Thailand’s cosmetic industry using porter’s diamond model. Thai Journal of Pharmaceutical Sciences. 40(4), 172-178.
Porter, M., E. (1998). The competitive advantage of nations. Free press edition. New York.