มุมมองเศรษฐกิจไทย : ไม่เป็นทางการ
Main Article Content
Abstract
เดิมได้มีการนิยามเกี่ยวกับวัชพืชไว้ว่า วัชพืชเป็นพืชที่ไม่มีประโยชน์ แต่นักกลยุทธ์กลับมีมุมมองเกี่ยวกับวัชพืชไปในแง่ของการสร้างโอกาส โดยมองว่าที่ผ่านมาวัชพืชเป็นพืชที่มีประโยชน์ แต่ผู้คนยังไม่สามารถที่จะค้นหาประโยชน์จากมันได้เองต่างหาก เฉกเช่นเศรษฐกิจไม่เป็นทางการซึ่งเปรียบเสมือนวัชพืชดังที่กล่าวมา ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลต่างก็พยายามที่จะยกระดับเศรษฐกิจไม่เป็นทางการให้เป็นเศรษฐกิจที่เป็นทางการ เรามาติดตามวัชพืชทางเศรษฐกิจกันดีกว่า เศรษฐกิจไม่เป็นทางการกับเศรษฐกิจเป็นทางการทั้งคู่มีส่วนที่เหมือนกันก็คือ ต่างก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างงาน สร้างรายได้นับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้คนทำเพื่อเลี้ยงชีพ สร้างความร่ำรวยให้กับตนเองและครอบครัว และเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถสะสมอำนาจจากความร่ำรวยได้ส่วนความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทั้ง 2 ระบบดังกล่าวนั้น ก็อยู่ตรงที่ประเด็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกสารระบบสถิติของรัฐบาล ไม่ต้องมีการจดทะเบียน หรือสามารถที่จะเลี่ยงการเสียภาษี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ธุรกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัญชีรายได้ประชาชาติของสหประชาชาติ (Statistical of National Account) หรือที่รู้จักในนามว่า SNA ทั้งนี้ อาจเป็นได้ทั้งที่ถูกกฎหมาย เช่น หาบเร่ - แผงลอย เป็นต้น และผิดกฎหมาย เช่น การพนัน หวย บ่อน ซ่อง และการค้าประเวณี เป็นต้น หรือไม่มีกฎหมายกำกับ เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการบางส่วนอาจจะถูกนับรวมอยู่ในบัญชีรายได้ประชาชาติ โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการ เช่น คนเล่นการพนันซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้วได้เงิน จากนั้นก็นำเงินไปซื้อบ้าน ซึ่งถูกกฎหมาย เป็นต้น หรืออาจจะแอบแฝงอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการ เช่น โสเภณีในสถานที่บริการอาบ อบ นวด เป็นต้น