บทศึกษาภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม ของฮะยะโอะ มิยะซะกิ ผ่านมุมมองนิเวศวิจารณ์ ว่าด้วยเรื่องอาณาเขต สารพิษ และสัตว์
Main Article Content
บทคัดย่อ
มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (2527) เป็นภาพยนตร์อนิเมชันที่เขียนและกำกับโดย ฮะยะโอะ มิยะซะกิ เกี่ยวกับโลกหลายพันปีในอนาคต เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงนอซึกะแห่งอาณาจักรหุบเขาแห่งสายลมซึ่งดำรงอยู่อย่างสงบสุขและอุดมสมบูรณ์มาตลอด แต่กำลังถูกคุกคามจากอาณาจักรใกล้เคียง คือ โทรุเมเคีย (Torumekia) ซึ่งมีความพร้อมด้านการรบพุ่งและต้องการขยายอาณาเขต อีกทั้งยังถูกคุกคามจากป่าแห่งสารพิษ (Toxic Jungle) ซึ่งเต็มไปด้วยสายพันธุ์พืชและแมลงอันเป็นพิษต่อมนุษย์ เบื้องหลังเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นตาตื่นใจ การเผชิญหน้ากับแมลงยักษ์และการเหินเวหาบนเครื่องร่อนและยานบิน ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกข้อคิดเชิงนิเวศวิทยาที่เผยให้เห็นความเปราะบางของทั้งโลกธรรมชาติและถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ บทความนี้วิเคราะห์ภาพยนตร์อนิเมชันนี้ในสี่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวรรณกรรมเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) แนวคิดเรื่องภูมิประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับขนบการบรรยายท้องทุ่ง (pastoralism) พื้นที่รกร้าง (wilderness) พื้นที่สูงส่งหรือเลอเลิศ (sublime) และนัยของพื้นที่เหล่านั้น (2) คำถามเรื่องสิทธิ์การถือครองที่ดิน (3) สารพิษและวาทกรรมสารพิษ (4) สัตว์ โดยเฉพาะแมลงซึ่งเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสารพิษผ่านยาฆ่าแมลง บทความนี้อ้างถึงและพยายามสานต่อการศึกษาชิ้นสำคัญในสาขานิเวศวิจารณ์หลายชิ้น โดยเฉพาะ Silent Spring ของเรเชล คาร์สัน (2505) “Toxic Discourse” ของลอเรนซ์ บิวเอลล์ (2541) และ Ecocriticism ของ เกร็ก การ์ราร์ด (2555) ในตอนท้าย บทความนี้ยังวิพากษ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะงานภาพยนตร์ชิ้นเอกที่ชูประเด็นสิ่งแวดล้อม และพยายามอธิบายว่าอนิเมชันที่เป็นเพียงเรื่องแต่งและได้รับการฉายครั้งแรกตั้งแต่กว่าสามทศวรรษที่แล้วนี้มีความเชื่อมโยงต่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบันอย่างยิ่งยวดเพียงใด
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.