ยิ่งโตยิ่งปล่อย: เด็กและวัยเด็กในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 รัฐไทยมุ่งส่งเสริมบทบาทของพ่อแม่ต่อความสุขและสวัสดิภาพของลูกมากขึ้นเมื่อความเจริญของเด็กเท่ากับความเจริญของชาติ เด็กค่อยๆ สูญเสียความหมายทางเศรษฐกิจซึ่งถูกแทนที่ด้วยคุณค่าทางอารมณ์และการศึกษา ขณะเดียวกัน ความใส่ใจของพ่อแม่ต่อความสุขและสวัสดิภาพของลูกๆ เริ่มขยายครอบคลุมถึง “เด็กวัยรุ่น” บทความนี้เสนอว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นเพียงผลผลิตของประวัติศาสตร์ราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น การศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของเด็กและวัยเด็ก รวมถึงบทบาทของเด็กภายในกลุ่มสังคมไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นว่าแบบแผนของความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับกลุ่มทางสังคมในเวลานั้นมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบ “ยิ่งโตยิ่งปล่อย” ใน 2 ความหมาย กล่าวคือ ยิ่งโตขึ้น ผู้คนยิ่งปล่อยให้ดูแลตัวเองได้มากขึ้นโดยช่วงวัยที่อันตรายและน่าห่วงเป็นพิเศษไม่ใช่วัยหนุ่มสาว แต่เป็นขวบปีแรกๆ ของชีวิต นอกจากนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองยังปล่อยให้เด็กมีบทบาททางเศรษฐกิจในครัวเรือนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของเด็กผู้หญิง บทความอาศัยข้อค้นพบจากองค์ความรู้ต่างสาขา ประกอบกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักฐานในช่วงเวลาดังกล่าวกับตัวแบบทางประวัติศาสตร์ 3 ประเภท ได้แก่ ภาษาและชุดคำเกี่ยวกับเด็ก พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และวิถีการผลิต เพื่อชี้ให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กได้ภายใต้ความสัมพันธ์ทางชีววัฒนธรรม อันหมายถึงความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีระหว่างโลกธรรมชาติ/ชีววิทยากับโลกทางวัฒนธรรม