นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ (ค.ศ. 1960-2000)
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษานโยบายการเคหะแห่งชาติที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์จาก ค.ศ. 1960-2000 โดยแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของนโยบายการเคหะแห่งชาติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะเดียวกันก็มีส่วนในการกำหนดพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสิงคโปร์ด้วย นโยบายการเคหะแห่งชาติสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงที่สำคัญ คือ นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศในช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ (ค.ศ. 1960-1970) นโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศในสังคมชนชั้นกลาง (ค.ศ. 1971-1990) และนโยบายการเคหะแห่งชาติกับการพัฒนาประเทศในสังคมที่มีความหรูหรา และเทคโนโลยีชั้นสูง (ค.ศ. 1991-2000)
ผลการศึกษาพบว่า นโยบายการเคหะแห่งชาติเป็นการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีแผนการชัดเจนและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ กล่าวคือ นโยบายการเคหะแห่งชาติช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สำหรับพักอาศัยและดำเนินธุรกิจ อันเป็นสาเหตุให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากหมู่บ้านชาวประมงและเกษตรกรมาสู่สังคมอุตสาหกรรมและเมืองระดับโลกที่มีตึกสูงระฟ้าและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีส่วนสร้างความเป็นชาวสิงคโปร์จากกลุ่มผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่ออัตราประชากรที่พำนักอาศัยอยู่ในห้องชุดของการเคหะแห่งชาติสูงขึ้นทำให้รัฐบาลพรรคกิจประชาได้นำนโยบายการเคหะแห่งชาติมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งและจัดตั้งองค์กรระดับล่างในทุกอาคารของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนควบคุมพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและลดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้น จึงไม่ได้ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในสิงคโปร์ นอกจากนี้นโยบายการเคหะแห่งชาติยังไม่บรรลุเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนกันทางเชื้อชาติระหว่างชาวจีน ชาวมาเลย์ ชาวอินเดีย และกลุ่มชนเชื้อชาติอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากการฝังรากลึกของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงปัญหาทางสังคมระหว่างเพื่อนบ้าน
This study examines the public housing policies which affected development of Singapore from 1960 to 2000. The achieve this goal, the public housing policies were divided into three main periods, namely nation-building, middle-class housing and the affluent and IT society. The study also includes how public housing policies have been developed and their impacts on the politics, economy, and society of Singapore.
The findings reveal that the public housing policies have far-reaching social, economic, and political impacts on the whole society of Singapore beyond the Housing and Development Board’s areas. As one of the main strategies for economic development, the public housing policies assist in reducing the country’s urgent problem of land shortage and changing Singapore from a port city to a global and high-tech industrial one. They have also been used to create a sense of national identity among immigrants of various ethnic groups. That is, they are all Singaporean. However, the ruling People’s Action Party (PAP) has resorted to these policies for its own political advantages by weakening the opposition’s ability to compete against them. In addition, the public housing policies have failed to promote social integration of Chinese, Maley, and Indian ethnic groups.