"การพนันม้าแข่ง" การดำรงอยู่ของการพนันนอกกฎหมายในสังคมไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความชิ้นนี้มุ่งนำเสนอ “ชีวิตประจำวันของแฟนอาชา” จากกรณีศึกษาสนามม้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมสนามม้าแข่งในเมืองไทย ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นพื้นที่การพนันขนาดใหญ่ และมีการคดโกงกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา จึงสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมที่มีมาตรการห้ามเล่นการพนันทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรมเช่นสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมุ่งศึกษาว่าพื้นที่สนามม้ามีกระบวนการสร้างสรรค์และถ่ายทอดสิ่งใดให้กับผู้คนที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์ และกระบวนการแบบใดที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นยอมรับสถานะของพื้นที่โดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ
บทความชิ้นนี้นำมโนทัศน์เรื่อง “ปฏิบัติการ” (operations) มาใช้เป็นแนวทางการศึกษา ทั้งนี้พบว่า เหตุที่การพนันม้าแข่งสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย เกิดจากปฏิบัติการช่วงชิงการนิยามความเป็นพื้นที่สนามม้าขึ้นใหม่ เพื่อต่อรองกับแรงกดดันทางสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนคือการสร้างกฏเกณฑ์ ระเบียบ และโครงสร้างการจัดการในพื้นที่สนามม้า ที่ส่งผลให้เกิดโครงร่างทางความคิดในการเล่นพนันของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ขนานนามตนเองว่า “แฟนอาชา” ยิ่งกว่านั้นปฏิบัติการของแฟนอาชายังแสดงถึงกระบวนการผลิตซ้ำพฤติกรรมการพนันม้าแข่ง ภายใต้การเรียรู้โลกทัศน์และกรอบระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ของการพนัน นอกจากนั้นปฏิบัติการยังแสดงให้เห็นถึงมิติของการผลิตใหม่ ที่เกิดขึ้นในการเล่นพนันม้าแข่ง ที่ผู้ร่วมเล่นการพนันม้าแข่งต่างก็ตีความและฉวยใช้กิจกรรมการพนันม้าแข่งไปในรูปแบบหรือแนวทางที่ตนเองได้รับประโยชน์สูงสุด
การดำรงอยู่ของการพนันม้าแข่ง จึงมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เป็นการคงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของมิติเวลาทางประวัติศาสตร์ บริบททางอำนาจ ตลอดจนกลุ่มคนผู้ที่ต่างก็เข้ามาฉวยใช้ ตีความ และนิยามความเป็นไปของสังคมการพนันม้าแข่ง สนามม้าจึงเปรียบเสมือนเวทีของการต่อรองที่เปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ผู้คนที่แตกต่างและมีต้นทุนที่หลากหลายได้เข้ามาต่อรองแลกเปลี่ยนทรัพยากรในแบบต่าง ๆ ที่ตนถือครอง
The article studies “everyday life of horse fans” from horse race courses in Chiang Mai Province, focusing on the question of why a horse race course widely known as a large gambling area with sorts of double can maintain its relatively respectable social status in Thailand amidst legal and ethical sanctions. Emphasis is given to the formation of a “horse fan” identity and dynamic interactions between the space and horse fans resulting in unconditional acceptance of the horse race course.
Adopting the conceptual framework of “operations”, the article points out that horse race gambling has become a socially acceptable practice through its spatial redefinition that helps negotiate with social pressures. Significantly, such a process includes the establishment of rules, regulations, and management to monitor and determine the proper behaviors and practices of the “horse fans” who, in turn, help maintain and reinforce the respectable status of horse race gambling. Nevertheless, it also leaves room for horse fans to reinterpret and redefine horse race gambling for their own advantageous ends.
Horse race gambling, therefore, is not static but constantly changing depending on historical context, power shift, and dynamic interactions between horse fans. The horse race course is like a negotiating field open to various interest groups with different financial and cultural capital.