แนวทางการประยุกต์หลักธรรมเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อพัฒนาสังคม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาหลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อพัฒนาสังคม งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า 1) พระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง พระราชาผู้มีพระบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย (ราชาธิราช) ทรงครองราชย์โดยธรรมและปกครองแผ่นดินด้วยจักรรัตนะเป็นต้น พระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) พระเจ้าจักรพรรดิในจักรวาล เช่น พระเจ้ามหาสุทัสสนะในมหาสุทัสสนสูตร (2) พระเจ้าจักรพรรดิในทวีป เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช และ (3) พระเจ้าจักรพรรดิในประเทศ เช่น พระเจ้า
ปเสนทิโกศลแห่งแคว้นมคธ มีบทบาทเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร
2) หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในคัมภีร์พระพุทธศาสนาค่อนข้างจะครอบคลุมในฐานะเป็นธรรมราชาหรือธรรมิกราช ธรรมนั้นเกื้อกูลทั้งการทำหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร เป็นทั้งอัตตหิตสมบัติและปรหิตสมบัติ ธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิในพระสูตรต่างๆ อาจจำแนกเป็น 4 หมวดหมู่ คือ (1) ธรรมที่ทำให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ (2) ธรรมที่พระเจ้าจักรพรรดิปฏิบัติ (3) ธรรมที่พระเจ้าจักรพรรดิสอนคนอื่น และ (4) หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ทำความเข้าใจด้วยคติพระเจ้าจักรพรรดิ
3) หลักธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิครอบคลุมทั้งมิติทางโลก คือ การปกครองบ้านเมือง และมิติทางศาสนา คือ เอาพระทัยใส่ในการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมและทรงขวนขวายปฏิบัติบรรลุธรรมเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย จึงทำให้พระเจ้าจักรพรรดิมีบทบาททั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับยกย่องทั้งในฐานะผู้ปกครองที่ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม พร้อมๆ กับสั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติธรรมไปด้วย เป็นเหตุให้พระองค์ได้รับการยกย่องและสรรเสริญพระเกียรติคุณในหลายโอกาสว่ามีสถานภาพและบทบาทคล้ายกับพระพุทธเจ้า
Article Details
ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความในวารสาร ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น และไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ ยินยอมว่าบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร