รูปแบบการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของวัดจังหวัดปทุมธานี

Main Article Content

Phraboontham Chumyen
Soontaree Cheentam
Panrapas Takolpuckdee

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาที่ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหา และความต้องการในการจัดการขยะมูลฝอยของวัด จังหวัดปทุมธานี 2) สร้างและพัฒนารูปแบบศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของวัดประชากรและกลุ่มตัวอย่างแบ่งตามระยะการวิจัยดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการในการจัดการขยะมูลฝอยของวัด ประชากร เป็นพระภิกษุสงฆ์ บุคลากรของวัดและสาธุชนของวัดในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 3,120 คน กลุ่มตัวอย่างกำหนดขนาดจากตารางของเครจซี่และมอร์แกน จำนวน 451 คน ด้วยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย เจาะจงเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 คน จากเจ้าอาวาส บุคลากรของวัดที่รับผิดชอบด้านการจัดการขยะ นักวิชาการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือนายกเทศมนตรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพปัญหาและความต้องการ 2) แบบสัมภาษณ์แนวทางพัฒนารูปแบบศูนย์เรียนรู้ 3) ประเด็นคำถามและแบบบันทึกการสนทนากลุ่มเพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบศูนย์เรียนรู้ 4) แบบประเมินรูปแบบศูนย์เรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


ผลการวิจัยพบว่า


1) จังหวัดปทุมธานีมี 7 อำเภอ พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดจำนวน     187 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตเมืองและชานเมือง ขยะมูลฝอยในวัดส่วนใหญ่มาจากขยะวัสดุบรรจุห่อหุ้มอาหารและขยะจากกิจกรรมการฌาปนกิจศพ การจัดเก็บดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัดต้องการให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยในวัด


2) รูปแบบศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของวัด ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาและความสำคัญ ที่เน้นการให้ความรู้เรื่องขยะมูลฝอยและส่งเสริมเจตคติให้สามารถปฏิบัติได้จริง 2) หลักการและแนวคิด ภายใต้หลักการลดปริมาณและใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยตามแนวคิดสิ่งแวดล้อมศึกษาที่เป็นการให้ความรู้ สร้างเจตคติ นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง แนวคิดการเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้ 3) วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ส่งผ่านความรู้ สร้างเจตคติที่ดี และสร้างทักษะปฏิบัติในการจัดการขยะมูลฝอย 4) วิธีการดำเนินงาน ดำเนินงานภายใต้ฐานการเรียนรู้ จำนวน 6 ฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานที่ 1 การคัดแยกขยะ ฐานที่ 2 ธนาคารขยะรีไซเคิล ฐานที่ 3 หลัก 3R ฐานที่ 4 น้ำหมักชีวภาพ ฐานที่ 5 ปุ๋ยหมักเศษอาหาร และฐานที่ 6 พลังงานก๊าซชีวภาพ 5) การประเมินผล ด้วยแบบทดสอบความรู้ แบบสอบถามเจตคติ และแบบสอบถามการปฏิบัติ 6) ปัจจัยสนับสนุน การมีส่วนร่วมประชาชนในชุมชนและการสนับสนุนขององค์กรปกครองท้องถิ่น 7) การนำไปใช้ผ่านทางคู่มือการใช้รูปแบบ โดยมีผลการประเมินคุณภาพของรูปแบบศูนย์เรียนรู้ พบว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.16 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.13)

Article Details

บท
บทความวิจัย