ปรัชญาความขัดแย้ง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาแนวคิด องค์ประกอบ ปัจจัยและเงื่อนไขความขัดแย้งของบุคคลและสังคม (2) เพื่อศึกษาระบบและกลไกการจัดการความขัดแย้งของบุคคลและสังคม (3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอองค์ความรู้ปรัชญาความขัดแย้งในบริบทการจัดการเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาชีวิตและสังคม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพจากเอกสาร ประกอบด้วยข้อมูลปฐมภูมิ ข้อมูลทุติยภูมิ และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งในบุคคลและสังคม
จากการศึกษาพบว่า ความขัดแย้งเป็นความรู้สึกหรือปฏิกิริยาของบุคคลหรือกลุ่มคน ที่มีทัศนคติ ค่านิยม และเป้าประสงค์ที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นักสังคมวิทยาหลายๆกลุ่มมองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมนุษย์ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การจัดการความขัดแย้งที่ดีย่อมสามารถตอบสนองความพึงพอใจของทุกฝ่าย และนำพาความขัดแย้งไปสู่การพัฒนาที่สร้างสรรค์ สามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นได้ ความขัดแย้งจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรทั้งเชิงบวกแลเชิงลบ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองและวิธีการจัดการของผู้บริหารองค์กรนั้น
มูลเหตุและปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งมักจะเกิดจากความขาดแคลนและการแบ่งสรรทรัพยากรที่ไม่ลงตัว ในทางศาสนาเชื่อว่าความขัดแย้งเกิดจากตัณหาในตัวตนของมนุษย์เองเป็นสำคัญ มีลักษณะเป็นความขัดแย้งภายในตนเองและความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อันเกิดจากปัจจัยใน 2 ประเด็นคือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ “ปปัญจธรรม” (ตัณหา ทิฏฐิ มานะ) และ ปัจจัยภายนอก (ข้อเท็จจริง ข้อมูล ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ และชาติพันธุ์)
ระบบและกลไกการจัดการความขัดแย้งของบุคคลและสังคม สามารถนำทฤษฎีมาปรับใช้ได้หลายทฤษฎี ประกอบไปด้วย ทฤษฎีบทบาท ทฤษฎีความขัดแย้งแบบร่วมมือ ทฤษฎีภาวะผู้นำ โดยสามารถสรุปวิธีการจัดการความขัดแย้งออกได้เป็น 5 วิธี คือ (1) แบบหลีกเลี่ยง (2) ผ่อนปรน (3) บังคับ (4) ประนีประนอม (5) แก้ปัญหา ซึ่งแต่ละแบบล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสียและเงื่อนไขในการใช้ให้เหมาะสมต่างกัน สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ การแก้ปัญหาแบบ ชนะ-ชนะ ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์เต็มส่วนทั้งคู่และสามารถรักษาสายสัมพันธ์ไว้ได้ แต่ก็ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
การนำเสนอแนวทางในการนำไปสู่การบริบทการจัดการความขัดแย้งเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาชีวิตและสังคม มีหลากหลายวิธี โดยการจำแนกตามพฤติกรรม (Behaviour) การลดความไม่เสมอภาครายได้ (Income inequality) หลักธรรมาภิบาล (Good Governance ) แนวคิดเชิงสันติวิธีและสันติภาพ (Peace concept) แนวคิดทางเลือกเชิงสันติอื่นๆ (Other peace concept) การวาง กฎ ระเบียบ กติกาและกฎหมายเชิงสันติ (Role and Legal concept) ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural theory ) แนวคิดวิธีทางการทูตเชิงสันติวิธี (Consultation concept) การควบคุมอำนาจ (Control power ) การหลีกเลี่ยงการแข่งขัน (Competition) และแนวคิดโดยระบบชนชั้น (Caste concept ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบและกลไกการจัดการความขัดแย้งที่สมบูรณ์มักจะขึ้นอยู่ที่การประสานผลประโยชน์ที่ลงตัว และการจัดการความแตกต่างด้วยสันติวิธี
Article Details
ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความในวารสาร ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น และไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ ยินยอมว่าบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร