การใช้แผนที่ความคิดในการพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษ เพื่อความเข้าใจ: กรณีศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ด้อยความสามารถ

ผู้แต่ง

  • โสพินญา สุวรรณ ภาควิชาภาษาและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • ชลลดา เลาหวิริยานนท์ ภาควิชาภาษาและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

คำสำคัญ:

แผนที่ความคิด, การอ่านภาษาอังกฤษ, นักเรียนที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ, การเขียนเล่าเรื่อง

บทคัดย่อ

          วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลของการใช้แผนที่ความคิดต่อความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนที่มีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษน้อยและเพื่อศึกษาความสามารถในการสร้างแผนที่ความคิดด้วยตนเองของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 8 คนจากนักเรียนทั้งหมด 22 คน ของโรงเรียนบ้านคลองหวะ (ทวีรัตน์ราษฎร์บำรุง) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การเก็บข้อมูลโดยการทดลองกระทำในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ข้อมูลเชิงปริมาณได้จากผลการสอบความเข้าใจการอ่านภาษาอังกฤษแบบปรนัยก่อนเรียนและหลังเรียนส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากผลการสอบวัดความสามารถในการเขียนสรุปเรื่อง (written-recall protocols และผลการสัมภาษณ์ 4 ครั้งหลังเรียนจบทุกบทเรียน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณพบว่าความสามารถด้านการอ่านในภาพรวมของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าขนาดของผลเท่ากับ 1.72 ซึ่งเป็นค่าที่มีขนาดใหญ่ และในทักษะย่อยของการอ่านทั้ง 3 ด้าน นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญได้ดีที่สุด ตามด้วยการอนุมานและการหารายละเอียดตามลำดับ อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแสดงให้เห็นว่าถึงแม้นักเรียนกลุ่มตัวอย่างจะมีความรู้สึกเชิงบวกต่อการใช้แผนที่ความคิดเพื่อเป็นเครื่องช่วยในการเรียนอ่านแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างแผนที่ความคิดได้ด้วยตนเองและยังต้องการการชี้แนะจากครูอีกมาก ทั้งนี้เพราะนักเรียนมีความรู้เรื่องคำศัพท์พื้นฐานน้อยมาก ในการวิจัยครั้งต่อไปควรทดลองศึกษาผลของการใช้แผนที่ความคิดในหลายๆ รูปแบบกับเนื้อหาที่มีลักษณะแตกต่างกันต่อความสามารถในการอ่านของนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น

Downloads

How to Cite

สุวรรณ โ., & เลาหวิริยานนท์ ช. (2016). การใช้แผนที่ความคิดในการพัฒนาความสามารถการอ่านภาษาอังกฤษ เพื่อความเข้าใจ: กรณีศึกษานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ด้อยความสามารถ. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 4(2), 30. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/64432