การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการ พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาชุมชนสลักคอก จังหวัดตราด

ผู้แต่ง

  • ทิพย์สุดา พุฒจร สาขาวิชาพัฒนศึกษา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ลุยง วีระนาวิน ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
  • คณิต เขียววิชัย พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ธีรศักดิ์ อุ่นอารมย์เลิศ ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

คำสำคัญ:

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน, การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนผลการดำเนินงานพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนและพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนสลักคอกอย่างยั่งยืนด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับ คณะกรรมการบริหารชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก

ผลการศึกษาพบว่าชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกมีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ สมาชิกซึ่งเป็นคนในชุมชน ซื้อหุ้นและได้รับเงินปันผลรายปีจากสัดส่วนร้อยละ 35 จากรายได้ทั้งหมดของกิจกรรมพายเรือคายัค นั่งเรือมาด และนั่งเรือมาด พร้อมรับประทานอาหารค่ำ และร้อยละ 65 จัดสรรเพื่อการบริหารงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสาธารณประโยชน์ และการจัดสวัสดิการสังคม ศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน คณะกรรมการบริหารชมรมเป็นกลุ่มผู้นำในชุมชน มีผู้จัดการชมรมทำหน้าที่ดูแลการท่องเที่ยวแทนสมาชิกชมรม ชมรมขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยว หน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวการพัฒนาเกาะช้างส่งผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวของชุมชน

นักวิจัยร่วมกับชมรมได้ดำเนินงานพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวได้แก่ กิจกรรมพัฒนาการบริหารจัดการชมรม การทดลองจัดการที่พักในชุมชน และการกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่คนในชุมชน และมีการพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนสลักคอกอย่างยั่งยืนพบว่า 1) ปัจจัยนำเข้าได้แก่ แนวคิดการจัดการท่องเที่ยวผู้นำชมรม สมาชิกชมรมและทรัพยากรการท่องเที่ยว 2) กระบวนการได้แก่ การบริหารจัดการชมรม การจัดกิจกรรมท่องเที่ยว การจัดการผลประโยชน์ การจัดการเรียนรู้ การเชื่อมโยงสู่ชุมชน การจัดการเครือข่ายความร่วมมือ และ 3) ผลลัพธ์สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม

 

Downloads

How to Cite

พุฒจร ท., วีระนาวิน ล., เขียววิชัย ค., & อุ่นอารมย์เลิศ ธ. (2016). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการ พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาชุมชนสลักคอก จังหวัดตราด. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 5(2), 102. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/64238