จริยธรรม

จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารนวัตกรรมธุรกิจ การจัดการและสังคมศาสตร์

วารสารนวัตกรรมธุรกิจ การจัดการ และสังคมศาสตร์ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทความวิชาการและบทความวิจัยที่มีคุณภาพ ด้านบริหารธุรกิจ การจัดการ และสังคมศาสตร์ ตลอดจนสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้บริการวิชาการแก่สังคมในการเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ การทำวิจัยและการพัฒนาผลงานวิชาการ ของนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ ผู้บริหาร นักศึกษา นักธุรกิจ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยกำหนดตีพิมพ์ปีละ 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน), ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม), ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม) เผยแพร่ในเว็บไซต์ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์และระบบฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย หรือ Thai Journals Online (ThaiJO)

วารสารนวัตกรรมธุรกิจ การจัดการ และสังคมศาสตร์ มีรูปแบบผลงานที่วารสารจะรับพิจารณา 2 ประเภท คือ บทความวิจัย และบทความวิชาการ ซึ่งบทความทุกเรื่องต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอย่างน้อย 3 ท่าน ในลักษณะปกปิดรายชื่อ (Double blind peer-reviewed) เพื่อให้วารสารมีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล และนำไปอ้างอิงได้ และผลงานที่ส่งมาต้องไม่เคยถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอื่นใดมาก่อน และไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาลงวารสารใดๆ

ผู้เขียนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเสนอผลงานเพื่อตีพิมพ์ในวารสารนวัตกรรมธุรกิจ การจัดการ และสังคมศาสตร์ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของวารสาร สำหรับทัศนะข้อความและบทความในวารสารนวัตกรรมธุรกิจ การจัดการ และสังคมศาสตร์ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการวารสาร ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัย ไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ซึ่งทางวารสารได้กำหนดความซ้ำของผลงาน ด้วยโปรแกรม CopyCat เว็บ Thaijo ในระดับไม่เกิน 20%

จริยธรรมของผู้เขียน

  1. ผลงานที่ส่งมาต้องไม่เคยถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอื่นใดมาก่อน และไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาลงวารสารใด ๆ
  2. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นในเนื้อหาและท้ายบท หากมีการนำข้อความใด ๆ มาใช้ในผลงานของตนเอง
  3. ผู้เขียนต้องใส่ชื่อผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด หากมีผู้ร่วมวิจัยหลายคน โดยไม่แอบอ้างเป็นงานวิจัยของตนเอง
  4. ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในวารสารที่กำหนด
  5. ต้องระบุแหล่งทุนในการทำวิจัยชิ้นนั้น รวมถึงระบุผลประโยชน์ทับซ้อน
  6. ผู้เขียนต้องไม่บิดเบือนข้อมูล หรือรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ
  7. หากมีการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ ผู้เขียนจะต้องแนบหนังสือรับรองที่ได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรม

 

จริยธรรมของบรรณาธิการวารสาร

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ ที่จะลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับขอบเขตเนื้อหาบทความ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์
  3. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้นิพนธ์หรือผู้เขียนบทความ และผู้ประเมิน แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน และไม่นำบทความในวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
  5. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์ หรือตอบรับบทความ โดยขาดข้อมูลหลักฐานระหว่าง การตัดสินใจ

จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้กับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  2. ผู้ประเมินต้องประเมินบทความในสาขาที่เชี่ยวชาญ มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับ ไม่ได้ใช้ความคิดเห็นส่วนบุคคล ในการประเมินและอยู่ในกรอบเวลาการประเมินที่กำหนด
  3. หากผู้ประเมินพบเห็นการคัดลอกบทความ และการแอบอ้างเป็นผลงานของตนให้หยุดการประเมินและแจ้งให้กับบรรณาธิการรับทราบ