การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของอัตราส่วนทางการเงินโดยใช้แบบจำลองของ Ohlson ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • กษิดิ์เดช ตรังเกษตรสิน เจษฎา ประสมศรี และอานนท์ ถนอมรูป

คำสำคัญ:

มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, อัตราส่วนทางการเงิน

บทคัดย่อ

งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. หาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของอัตราส่วนทางการเงินโดยอ้างอิงจากแบบจำลองของ Ohlson  2. วัดความสามารถของแบบจำลองในการประเมินมูลค่าของอัตราส่วนทางการเงินเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับข้อมูลจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   3. ทดสอบความเหมาะสมของแบบจำลองเมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการประเมินมูลค่าของอัตราส่วนทางการเงินในข้อมูลแบบแยกตามรายอุตสาหกรรม 4. ทดสอบสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรในแบบจำลองการประเมินมูลค่าของอัตราส่วนทางการเงิน อาทิเช่น มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (BVPS), กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) , คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (FEPS),  ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Beta) , ขนาดของกิจการ (Size), ระดับหนี้สินของกิจการ (Leverage) , เงินปันผลจ่ายต่อหุ้น (DPS) การศึกษาใช้เทคนิค Panel generalized least squares (PGLS) ในการศึกษาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2563 (ระยะเวลาการศึกษา 15 ปี) โดยที่มีความต่อเนื่องกันของข้อมูลอย่างน้อยห้าปีต่อเนื่อง โดยยกเว้นบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงิน และบริษัทที่อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ 

ผลการศึกษาพบว่าแบบจำลองสามารถอธิบายตัวแปรที่ส่งผลต่ออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV Ratio) อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) และ การคาดการณ์อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Forward P/E Ratio) โดย กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการประเมินมูลค่า  ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตัวอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการประเมินราคาหลักทรัพย์ของ Ohlson (1995) และปัจจัยอื่นๆ อาทิเช่น คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (FEPS), ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Beta) รวมถึง ขนาดของกิจการ (Size) ก็สามารถอธิบายการประเมินมูลค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ และความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามสมมติฐานที่ทางกลุ่มได้ตั้งไว้ แต่กลับกันพบว่าตัวแปรบางตัวในแบบจำลองสามารถอธิบายได้อย่างมีนัยสำคัญแต่ความสัมพันธ์ไม่ตรงตามสมมติฐานที่ตั้งได้ เช่น ระดับหนี้สินของกิจการ (Leverage) และ เงินปันผลจ่ายต่อหุ้น (DPS) อาจจะมีผลมาจากแบบจำลองเดิมไม่ได้คำนึงถึง ปัจจัยรวมถึงทฤษฎีอื่น เช่น ทฤษฎีการส่งสัญญาณ (Signaling) ที่อาจมีผลกับเงินปันผลจ่ายต่อหุ้น (DPS) และ ทฤษฎีโครงสร้างเงินลงทุน (Trade-off) ที่มีผลกับ ระดับหนี้สินของกิจการ (Leverage) 

ผลการศึกษายังพบอีกว่าเมื่อแยกกลุ่มตัวอย่างตามอุตสาหกรรมโดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร, สินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าอุตสาหกรรม, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง, ทรัพยากร, บริการ และ เทคโนโลยี แบบจำลองยังคงสามารถอธิบายตัวแปรที่ส่งผลต่อการประเมินมูลค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีความแม่นยำ

References

Fama, E. F., & French, K. R. (1993). Common risk factors in the returns on stocks and Bonds. Journal of Financial Economics, 33(1), 3–56. https://doi.org/10.1016/0304-405x(93)90023-5
Martínez, P., Prior, D., & Rialp, J. (2012). The price of stocks in latin american financial markets: an empirical application of the ohlson model. International Journal of Business and Finance Research, 6(4), 73–85.
Modigliani, F., & Miller, M. H. (1958). The Cost of Capital, Corporation Finance and the Theory of Investment. The American Economic Review, 48(3), 261–297.
Ohlson, J. A. (1995). Earnings, book values, and dividends in Equity Valuation. Contemporary Accounting Research, 11(2), 661–687. https://doi.org/10.1111/j.1911-3846.1995.tb00461.x
Ohlson, J. A. (2001). Earnings, book values, and dividends in equity valuation: An empirical perspective*. Contemporary Accounting Research, 18(1), 107–120. https://doi.org/10.1506/7tpj-rxqn-tqc7-ffae
Senthilnathan, S. (2013). Role of the net assets in assessing the relevance of earnings. Journal of Commerce and Accounting Research, 2(3), 31–41. https://doi.org/10.2139/ssrn.2233168
Sharpe, W. F. (1964). Capital asset prices: A theory of market equilibrium under conditions of risk. Journal of Finance, 19(3), 425–443. https://doi.org/10.2307/2977928
Silvestri, A., & Veltri, S. (2012). A Test of the Ohlson Model on the Italian Stock Exchange. Accounting & Taxation, 4(1), 83–95.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29