แนวทางการพัฒนาวัดตามหลักสัปปายะ 7 ของคณะสงฆ์ อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
คำสำคัญ:
แนวทาง, การพัฒนาวัด, หลักสัปปายะ 7บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาหลักสัปปายะ 7 ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท 2) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันในการพัฒนาวัดของคณะสงฆ์อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ 3) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาวัดตามหลักสัปปายะ 7 ของคณะสงฆ์อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 37 รูป/คน จำนว 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มพระสังฆาธิการ จำนวน 6 รูป 2) กลุ่มนักปกครอง และผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 5 คน 3) กลุ่มราชการ จำนวน 6 คน 4) กลุ่มนักวิชาการ จำนวน 5 คน 5) กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 5 คน 6) กลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 10 คน มีวิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้คือแบบสัมภาษณ์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา แล้วนำเสนอเชิงพรรณาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า
1. หลักสัปปายะ 7 หมายถึง สบาย สภาพเอื้อ สภาวะที่เกื้อหนุน สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออํานวย มี 7 ประการ ได้แก่ 1) อาวาสสัปปายะ 2) โคจรสัปปายะ 3) ภัสสะสัปปายะ 4) ปุคคลสัปปายะ 5) โภชนสัปปายะ 6) อุตุสัปปายะ และ7) อิริยาบถสัปปายะ โดยหลักสัปปายะ 7 สามารถนำไปใช้กับคณะสงฆ์ในการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่รื่นรมย์ เป็นรัมณียสถาน เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม
2. สภาพปัจจุบันในการพัฒนาวัดของคณะสงฆ์อำเภอบัวเชด มีการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) เขตพุทธาวาส 2) เขตสังฆาวาส 3) เขตธรณีสงฆ์ โดยแบ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อประโยชน์ต่อการใช้สอยพื้นที่ในบริเวณวัดและเกิดความเป็นสัปปายะ มีลักษณะเด่น คือ คณะสงฆ์อำเภอบัวเชด อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทำให้ภูมิอากาศไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป คณะสงฆ์มีความสามัคคี
3. แนวทางการพัฒนาวัด คณะสงฆ์อำเภอบัวเชดมีแนวทางการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่เหมาะสมตามหลักสัปปายะทั้ง 7 ประการ คือ 1) อาวาสสัปปายะ การพัฒนาวัดหรือปรับปรุงวัดให้มีความสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย 2) โคจรสัปปายะ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ถูกสุขลักษณะ 3) ภัสสสัปปายะ สนทนาและการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส 4) ปุคคลสัปปายะ ส่งเสริมให้มีกัลยาณมิตร 5) โภชนสัปปายะ จัดการด้านโภชนาการ ที่จะเป็นโยชน์ต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ 6) อุตุสัปปายะ จัดระบบสภาพแวดล้อมภายในวัดและชุมชนให้มีสภาพที่เอื้อต่อธรรมชาติและการเรียนรู้ ให้มีส่วนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติภาวนา 7) อิริยาปถสัปปายะ ส่งเสริมการออกกำลังกาย การจัดพื้นที่ภายในวัดและชุมชนเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคม
Downloads
References
นรีวัลคุ์ ธรรมนิมิตโชค. (2550). “การศึกษารูปแบบของวัดที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระครูโสภณพุทธารักษ์ (ธมฺมรโส) และคณะ. (2560). “การประยุกต์หลักสัปปายะ 7 เพื่อพัฒนาครูสมาธิ รุ่น 39 สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา 73 วัดพระงาม จังหวัดตรัง.” วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย. (2539). กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2553). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (Dictionary of Buddhism). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระมหาธัชธร สิริมงฺคโล (มาตรา). (2556). “การจัดการการทองเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอาราม หลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแกน.” วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระวีระศักดิ์ ชยธมฺโม (สุวรรณวงศ์). (2558, ธันวาคม 30). “แนวทางการจัดการวัดสันติสุขตามหลักสัปปายะ 7: กรณีศึกษาวัดธารน้ำไหล จังหวัดสุราษฎร์ธานี.” วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. 3(2) : 98-114.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของวัด : ศึกษาเฉพาะกรณี วัดชลประทานรังสฤษฎ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.