รูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง, การบริหารการเปลี่ยนแปลง, คุณภาพโรงเรียนมาตรฐานสากล, คุณลักษณะผู้เรียนมาตรฐานสากลบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นระหว่างการบริหารการเปลี่ยนแปลงกับระบบคุณภาพของโรงเรียนมาตรฐานสากล และรูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการของโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประชากรจากโรงเรียนจำนวน 203 แห่ง กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 136 โรงเรียน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ครู และประธานคณะกรรมการสถานศึกษา รวม 4 คน จำนวน 544 คน สร้างเครื่องมือวิจัยแบบมาตราประมาณค่า 5 ระดับ เก็บแบบสอบถามได้ 493 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 90.63 นำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) และสร้างรูปแบบจำลองให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 12 ท่าน เพื่อประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ผลการวิจัยพบว่า
- ผลตรวจสอบรูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นระหว่างการบริหารการเปลี่ยนแปลงกับระบบคุณภาพโรงเรียนมาตรฐานสากล พบว่า เป็นไปตามสมมติฐานและสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยอัตราส่วนระหว่างค่าสถิติไค-สแควร์ กับจำนวนองศาอิสระมีค่าเท่ากับ 0.00014 ค่าสถิติไค-สแควร์ หารด้วยค่าชั้นความเป็นอิสระ คือ 1.71 และเกณฑ์ค่าประมาณความคาดเคลื่อนของรากกำลังสองเฉลี่ย = 0.032
- รูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1) อุดมการณ์ 2) การสร้างแรงบันดาลใจ 3) การกระตุ้นทางปัญญา และ 4) ความเป็นปัจเจกบุคคล ส่งผลต่อ ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1) การพัฒนาผู้บริหารและครู 2) การสร้างปัจจัยพื้นฐาน 3) การสร้างเครือข่ายพัฒนา 4) กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง 5) ทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง 6) นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง และ 7) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และด้านคุณภาพโรงเรียนมาตรฐานสากล ประกอบด้วย 1) การนำองค์กร 2) กลยุทธ์ 3) นักเรียนและผู้มีส่วนได้เสีย 4) การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ 5) บุคลากร 6) การปฏิบัติการ และ 7) ผลลัพธ์ จึงจะทำให้คุณลักษณะผู้เรียนมาตรฐานสากล ประกอบด้วย 5 ด้าน 1) ความเป็นเลิศทางวิชาการ 2) การสื่อสารสองภาษา 3) ล้ำหน้าทางความคิด 4) ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ และ 5) ร่วมรับผิดชอบต่อโลก