การสืบทอดวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
คำสำคัญ:
การสืบทอด, การถ่ายทอด, วงปี่พาทย์, อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดนครราชสีมาบทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง การสืบทอดวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีจุดประสงค์เพื่อ (1)ศึกษาสภาพและบทบาทของวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (2) ศึกษากระบวนการสืบทอดวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาโดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ และวิธีการทางมานุษยดนตรีวิทยา ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร สัมภาษณ์จากหัวหน้าคณะวงปี่พาทย์อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา สังเกตการเรียนการสอน การสืบทอดวงปี่พาทย์ แบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบวิธีพรรณนา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า
- สภาพและบทบาทของวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีวงปี่พาทย์ที่มีการคงอยู่และสืบทอดทั้งสิ้น 4 วง นักดนตรีมีจำนวนค่อนข้างน้อย จำแนกกลุ่มตามหน้าที่การบรรเลงได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มคนเครื่อง กลุ่มคนระนาด กลุ่มคนปี่ กลุ่มคนเครื่องหนัง และกลุ่มคนจังหวะ โดยกลุ่มคนระนาดและคนปี่ เป็นกลุ่มนักดนตรีที่มีจำนวนน้อยที่สุด เครื่องดนตรีในวงมีทั้งเครื่องดนตรีปี่พาทย์ไทยและปี่พาทย์มอญ โดยเน้นเครื่องดนตรีปี่พาทย์มอญเป็นนหลัก เพื่อตอบสนองค่านิยมของคนในสังคม โดยจำแนกประเภทตามหน้าที่ลักษณะการบรรเลงได้ 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนอง เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกำกับจังหวะหน้าทับ และเครื่องดนตรีประเภทประกอบจังหวะ ด้านบทบาทต่อสังคม วงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันยังคงมีบทบาทอยู่ในสังคม 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านพิธีกรรม นิยมใช้วงปี่พาทย์มอญบรรเลงประกอบพิธีกรรมในงานศพ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ปี่พาทย์มอญในงานอื่นๆ ทดแทนการบรรเลงด้วยปี่พาทย์ไทย (2) การประกอบการแสดง พบการบรรเลงประกอบการแสดงลิเกเป็นส่วนใหญ่ การบรรเลงประกอบการแสดงโขนและระบำและรำ ส่วนใหญ่เป็นอย่าในรูปแบบการแสดงหน้าไฟ
2. การสืบทอดวงปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีการสืบทอดปี่พาทย์ของหัวหน้าวงมี 4 ลักษณะ ประกอบด้วย สืบทอดจากบรรพบุรุษ นักดนตรีในท้องถิ่น นักดนตรีต่างท้องถิ่น และครูพักลักจำ การสืบทอดวงปี่พาทย์ทั้ง 4 คณะนั้นเป็นการตั้งคณะขึ้นใหม่ การถ่ายทอดปี่พาทย์ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมานั้น 3 ระบบคือระบบครอบครัวดนตรี ระบบการฝากตัวเป็นศิษย์ และระบบการศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งผู้เข้าเรียนต้องผ่านพิธีกรรมการฝากตัวเป็นศิษย์เรียกว่า “ยกครู” มีการใช้บ้าน โรงเรียน และสถานที่แสดงดนตรีเป็นสถานที่จัดการศึกษา มีการใช้โน้ตเป็นสื่อ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสอน อาทิ การบันทึกเสียง ภาพเคลื่อนไหว การสอนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กระบวนการจัดการเรียนการสอน มีทั้งการสอนแบบเก่าและประยุกต์ นิยมใช้วิธีการสอนแบบมุขปาฐะ มีการเลือกเครื่องดนตรีฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องมือแรกในการฝึกหัดตามหลักวิชาการดนตรีไทยที่ยึดเอาทำนองฆ้องวงใหญ่เป็นทำนองหลักของเพลง โดยครูจะตีทำนองให้ดูแล้วศิษย์ตีตาม ใช้กระบวนการทำซ้ำเพื่อให้เกิดทักษะ