การสร้างรูปแบบค่าสีเพื่อคืนสภาพฮูปแต้ม โดยใช้วิธีดิจิทัล คัลเลอร์ไรเซชัน
คำสำคัญ:
ฮูปแต้ม, รูปแบบค่าสี, ดิจิทัล คัลเลอร์ไรเซชันบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อสังเคราะห์สีต้นแบบจากวัสดุที่ใช้ทำสีของฮูปแต้ม
2) เพื่อสร้างรูปแบบค่าสีเพื่อคืนสภาพฮูปแต้มโดยใช้วิธีดิจิทัล คัลเลอร์ไรเซชัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ 1) แบบบันทึกการใช้สีของฮูปแต้ม 2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมไทย3) แบบบันทึกการลงรหัสสี 4) แบบตรวจสอบรายการสีต้นแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือภาพฮูปแต้มของวัดป่าเลไลย์ บ้านหนองพอก ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 1 ภาพ เป็นฮูปแต้มที่ปรากฏอยู่ผนังด้านในทางทิศใต้ ฝั่งซ้ายของสิมคือภาพมารผจญ ได้มาจากการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ผลการวิจัยพบว่า 1) สีในฮูปแต้มทั้งหมด 14 สี ได้แก่ สีครามจีน สีครามจีนอ่อน สีครามหม้อ สีขาว สีดำ สีเขียว สีเทา สีเนื้อ สีเหลือง สีม่วงอ่อน สีชมพู สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้มและสีน้ำตาลพื้นหลัง ทำการสังเคราะห์ออกมาเป็นสีต้นแบบโดยใช้วัสดุที่ใช้ทำสีทั้งวัสดุดั้งเดิมและวัสดุทดแทน 2) นำสีต้นแบบมาสร้างรูปแบบค่าสีและนำไปใช้ในการคืนสภาพด้วยวิธีดิจิทัลคัลเลอร์ไรเซชัน ทำให้ภาพมารผจญมีสีสันสวยงามเสมือนอยู่ในช่วงเวลาที่ช่างแต้มวาดภาพขึ้นมา