การพัฒนาศิลปะการแสดงจากพิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
คำสำคัญ:
การพัฒนาศิลปะการแสดง, พิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงาบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความเป็นมา องค์ประกอบ บทบาท และคุณค่าของพิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงา และ 2) พัฒนาศิลปะการแสดงจากพิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงา โดยเป็นวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเทคนิควิธีการศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยการสังเกตและมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มผู้รู้ กลุ่มผู้ปฏิบัติ และกลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั่วไป ในพื้นที่บ้านพูนทราย ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำเสนอแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า
- 1. พิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงาเกิดจากความเกรงกลัวต่ออำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ชาวบ้านจึงจัดพิธีกรรมบวงสรวงเพื่อเอาใจและคาดหวังว่าจะมีสิ่งตอบแทนคือ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปราศจากอันตรายและโรคภัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเมื่อทุกสิ่งเป็นไปตามความคาดหวังก็จัดพิธีกรรมบวงสรวงเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อดวงวิญญาณของยายเหงาซึ่งสิงสถิตอยู่ในปราสาทยายเหงาผู้นำประกอบพิธีกรรมได้แก่ พระสงฆ์และปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมได้แก่ ประชาชนทั่วไป บุคลากรภาครัฐและเอกชน นักท่องเที่ยว สิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรมได้แก่ ธูปเทียน บายศรี ข้าวตอก ดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย เครื่องเซ่นบูชาได้แก่ หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมและผลไม้ต่าง ๆ เหล้าขาว น้ำอัดลม หมากพลู บทบาทของพิธีกรรมทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนสร้างความสามัคคีปรองดอง อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คุณค่าของพิธีกรรมก่อให้เกิดการหล่อหลอมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน ส่งผลให้ชาวบ้านพูนทรายได้สร้างวิถีชีวิตชุมชนให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น
- การพัฒนาศิลปะการแสดงจากพิธีกรรมบวงสรวงปราสายายเหงา ผู้วิจัยนำตำนานและขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงามาเรียบเรียงเป็นคำร้องทำนองเพลงจากดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ 4 ทำนองได้แก่ เจรียงจรวง เพลงเกริ่น เมด์เล่ย์กันตรึม และอายัยเวนเครื่องแต่งกายผู้แสดงใช้ผ้าไหมพื้นเมืองซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ได้แก่ ผ้าโฮลและผ้าอันลูนญ์ซีม เครื่องประดับใช้ประเกือม นำแนวคิดนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานใต้มาออกแบบท่ารำได้จำนวน 12 ท่า โดยแต่ละท่าแสดงให้เห็นขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมและท่าทางตามธรรมชาติของผู้เข้าร่วมพิธีกรรมบวงสรวงปราสาทยายเหงา