ปัญหาและอุปสรรคการใช้อำนาจดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน
คำสำคัญ:
อำนาจดุลพินิจ, อำนาจหน้าที่, พนักงานสอบสวนบทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการใช้อำนาจดุลพินิจและอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน และเพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักสากล ผลการศึกษาพบว่า
- ปัญหาในเรื่องของการใช้อำนาจดุลพินิจและอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ 1) กรณีปัญหาตามมาตรา 131 ในการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเป็นการเปิดช่องว่างให้พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและผู้เสียหายมากเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการที่ผู้ต้องหาและผู้เสียหายไม่ได้รับความธรรม 2) ปัญหาการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผม หรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือ ส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ซึ่งเป็นการให้ดุลพินิจพนักงานสอบสวนในการพิจารณาถึงพยานหลักฐาน เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ทำให้ผู้ต้องหาและผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีนี้ 3) กรณีผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือ ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย กระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่ หากได้ตรวจพิสูจน์และจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายนั้น แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการพิจารณาถึงเหตุอันสมควรในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาไม่ยินยอม ส่งผลให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นถือเป็นอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานและไม่สอดคล้องกับหลักสากล
- ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะว่าเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้คือ 1) ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา2 (6) โดยเพิ่ม คำว่า “พนักงานอัยการ”ในประมวลกฎหมายนี้ มาตรา 2(6) “พนักงานสอบสวน” หมายความถึงเจ้าพนักงาน และ“พนักงานอัยการ” ซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน 2) ควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา131/1 โดยการตัด คำว่า “เพียงเท่าที่จำเป็นหรือสมควร” และ3) ควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา131/1 โดยการตัดคำว่า “เหตุอันสมควร”