การพัฒนาศิลปะการแสดงจากประเพณีการแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตยตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
คำสำคัญ:
การพัฒนาศิลปะการแสดง, ประเพณีการแข่งขันเรือยาวบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความเป็นมา องค์ประกอบ บทบาท และคุณค่าของประเพณีการแข่งขันเรือยาวของชาวบ้านจานเตย ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ 2) พัฒนาศิลปะการแสดงจากประเพณีการแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตย โดยใช้รูปแบบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยเทคนิควิธีการศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยการสังเกตและมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มผู้รู้ กลุ่มผู้ปฏิบัติ และกลุ่มผู้ให้ข้อมูลทั่วไป ในพื้นที่บ้านจานเตย ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำเสนอแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า
- การแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตยเริ่มจัดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เนื่องจากชาวบ้านถือว่าเป็นการเซ่นไหว้เจ้าท่าคือ เจ้าพ่อวังอุปราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อเซ่นไหว้แล้วฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่สุขสบายและมีชื่อเสียงเกียรติยศพิธีกรรมเริ่มจากพิธีตั้งศาลเพียงตาและจัดเครื่องเซ่นสังเวยแม่ตะเคียนเพื่อขอโค่นต้นตะเคียนนำมาสร้างเรือ การบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนนำเรือลงแข่ง การตกแต่งเรือ การบวงสรวงบูชาครู การเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาแม่ย่านางประจำเรือ จากนั้นจึงทำการแข่งขันเรือยาว ประเพณีการแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตยทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้านเศรษฐกิจมีรายได้จากการจัดงานและการท่องเที่ยวทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ชุมชน แต่จากการมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ได้จากการร่วมจัดการแข่งขันเรือยาวเริ่มห่างหายไป
- การพัฒนาศิลปะการแสดงจากประเพณีการแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตย ผู้วิจัยสร้างสรรค์โดยพัฒนาจากทำนองลายส่วงเฮือ เครื่องดนตรีใช้เครื่องเป่าของอีสานใต้ร่วมกับวงโปงล่างเครื่องแต่งกายของผู้แสดงใช้สีสันสดใสสื่อถึงความสนุกสนานในการร่วมประเพณีการแข่งเรือ เครื่องประดับใช้เครื่องเงิน อุปกรณ์ประกอบการแสดงประกอบด้วย พานบายศรี ใบพาย และขัน สายสิญจน์ ธูปเทียน การออกแบบท่ารำจากประเพณีการแข่งขันเรือยาวบ้านจานเตยได้จำนวน 14 ท่า