การกลายเป็นคำสันธานของคำว่า “แถม” ในภาษาไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกลายเป็นคำสันธานของคำกริยา “แถม” เชิงประวัติ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติและเอกสารประเภทร้อยแก้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย-ปัจจุบัน พุทธศักราช 2560 แบ่งสมัยข้อมูล 3 สมัยคือ 1) สมัยสุโขทัย 2) สมัยอยุธยา-รัชกาลที่ 3 และ 3) สมัยรัชกาลที่ 4-ปัจจุบัน นำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า คำว่า “แถม” มี 2 หน้าที่ ได้แก่ 1) คำกริยา มี 3 ความหมาย คือ (1) คำกริยาอกรรมมีความหมายว่า ‘เพิ่มให้’ (2) คำกริยาสกรรมมีความหมายว่า ‘เพิ่มสิ่งให้’ และ (3) คำกริยาทวิกรรมมีความหมายว่า ‘เพิ่มสิ่งให้แก่’ 2) คำสันธาน ‘บอกการเสริมความ’ คำว่า “แถม” เริ่มปรากฏสมัยรัชกาลที่ 6 มีหน้าที่เดียว คือ คำกริยา และเริ่มทำหน้าที่คำสันธานในสมัยปัจจุบัน
บริบทที่ทำให้คำกริยา “แถม” กลายเป็นคำสันธาน คือ คำกริยาสกรรมที่มีความหมาย ‘เพิ่มสิ่งให้’ การกลายเป็นคำสันธานของ “แถม” ค่อนข้างสมบูรณ์และมีพัฒนาการต่อเนื่อง สังเกตได้จากความถี่ของคำสันธานที่สูงมากในสมัยปัจจุบัน คือ ร้อยละ 84.29 ในขณะที่เป็นคำกริยาร้อยละ 15.71 ด้านการกลายเป็นคำไวยากรณ์ “แถม” ผ่านกลไกการเปลี่ยนแปลงทางวากยสัมพันธ์ 2 กลไก ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ใหม่และการเทียบแบบ และ 2) ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย 2 กระบวนการ คือ อุปลักษณ์และนามนัย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษา 5 ประการ คือ (1) การทำให้มีความหมายทั่วไป (2) การสูญคุณสมบัติของหมวดคำ (3) การเจาะจงเลือก (4) กระบวนการแยก และ (5) การนำมาใช้ใหม่ การกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำว่า “แถม” เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบทิศทางเดียวและค่อยเป็นค่อยไป ผลการศึกษาแสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางไวยากรณ์ในภาษาไทย และทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่และความหมายจากคำกริยาเป็นคำสันธานในภาษาไทยซึ่งสามารถศึกษาได้ด้วยแนวคิดกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ต้นฉบับทุกเรื่องที่พิมพ์เผยแพร่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Peview) เฉพาะสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การตีพิมพ์บทความซ้ำต้องได้รับการอนุญาตจากกองบรรณาธิการเป็นลายลักษณ์อักษร
References
กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา. (2559). กระบวนการกลายเป็นรูปไวยากรณ์. กรุงเทพฯ:
โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จรัสดาว อินทรทัศน์. (2539). กระบวนการที่คำกริยากลายเป็นคำบุพบทในภาษาไทย.
วิทยานิพนธ์ อ.ด. (ภาษาศาสตร์). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นววรรณ พันธุเมธา. (2549). ไวยากรณ์ไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผล
งานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปราณี กุลละวณิชย์. (2544). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชา ภาษาไทย 3 (พิมพ์ครั้งที่ 9).
นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ปาเลอกัว, และ ซอง-ลาตีสต์. (2542). สัพะ พะจะนะ พาสาไท. กรุงเทพฯ: สถาบันภาษาไทย
กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ.
ไพทยา มีสัตย์. (2540). การศึกษาคำช่วยหน้ากริยาที่กลายมาจากคำกริยาในภาษาไทย.
วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ภาษาไทย). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ราตรี แจ่มนิยม. (2546). การศึกษาคำบุพบทที่กลายมาจากคำกริยาในภาษาไทย.
วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ภาษาไทย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วิจินตน์ ภาณุพงศ์. (2524). โครงสร้างภาษาไทย : ระบบไวยากรณ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย
รามคำแหง.
สุรีเนตร จรัสจรุงเกียรติ. (2551). ยัง : การศึกษาเชิงประวัติ. วิทยานิพนธ์ อ.ม.
(ภาษาไทย). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์. (2539). ไวยากรณ์ไทยในภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อุปกิตศิลปสาร, พระยา. (2545). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
Hopper, P. J. & Traugott, E. C. (2003). Grammaticalization (2nded.)
Cambridge: Cambridge University Press.
Kurylowicz, J. (1965). The inflectional categories of Indo-European. Heidelberg:
Winer.