การจัดองค์กรและกลไกในการจัดการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่นำไปสู่ความสุจริตและเที่ยงธรรม
DOI:
https://doi.org/10.14456/husoaru.2023.8คำสำคัญ:
การจัดการเลือกตั้ง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ความสุจริตและยุติธรรรมบทคัดย่อ
การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่มอบอำนาจให้ผู้แทนประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเพื่อทำหน้าที่ปกครองประเทศ ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งและสรรคการเมืองจึงมีการแข่งขันกันทุกรูปแบบเพื่อให้ตนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเพื่อที่จะเข้าไปมีอำนาจในการปกครองประเทศในการแข่งขันดังกล่าวจึงต้องมีกรรมการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลางทางการเมืองมีความกล้าหาญและปราศจากอคติทั้งปวง มาควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในการเลือกตั้งดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง นับแต่นั้นมาคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หรือเลือก หรือออกเสียงประชามติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้จัดองค์กรและกลไกในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ หลายประการ อาทิเช่น ได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการการเลือกตั้งจากห้าคนเป็นเจ็ดคน และเพิ่มคุณสมบัติให้สูงขึ้น เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละคน มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เมื่อพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ให้พนักงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งให้สืบสวนหรือไต่สวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองพยาน กันบุคคลไว้เป็นพยาน จัดตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดทั้งให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาใช้เป็นหลักในการพิจารณา เป็นต้น การจัดองค์กรและกลไกในการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถปฏิบัติภารกิจที่กำหนดเพิ่มขึ้นในลักษณะเชิงรุกเกี่ยวกับการจัดหรือดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ควบคุม ดูแลการเลือกตั้งและการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ได้กรรมการการเลือกตั้งที่สามารถปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจได้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ อันจะทำให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ การที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียงได้นั้น คณะกรรรมการการเลือกตั้งจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและส่วนราชการในการช่วยเหลือและคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และภายหลังการเลือกตั้ง ในการชี้เบาะแสการซื้อสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง และการขายเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวหรือพบเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งต้องรีบรายงานเหตุการณ์ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบพร้อมพยานหลักฐานโดยเร็ว อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติงานในเชิงรุก ต้องติดตาม ตรวจสอบและหาข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวคะแนนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ โดยจัดส่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ลงพื้นที่เพื่อหาข่าวในเชิงลึกแล้วรายงานพฤติกรรมของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวคะแนนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งดังกล่าวว่ามีการกระทำอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่อย่างไร คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง เช่น การซื้อสิทธิขายเสียงเอาไว้เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง และดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าว เป็นต้น ดังนั้น หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้ได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปบริหารประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง
References
ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์. (2526). คณะกรรมการ: การปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ. วารสารกฎหมายปกครอง, 2(1), 63-67.
ฐานข้อมูลด้านการออกแบบการจัดการการเลือกตั้งของ International IDEA. (2564). สืบค้น 20 พฤษภาคม 2564, จาก http://www.idea.int/elections/emd/electoral-management-design-database.cfm
ภัทราวดี ผุดเหล็ก. (2533). การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร: กรณีศึกษา สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. (2540). ราชกิจจานุเบกษา, 114 (ตอน 55 ก), 1-99.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (2560). ราชกิจจานุเบกษา, 134 (ตอน 40 ก), 1-90.
วัชราภรณ์ จุ้ยลำเพ็ญ. (2560). การให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2564, จาก http://library2.parliament.go.th/Ebook/content-issue/2560/hi2560-029.pdf
ศุภชัย สมเจริญ. (2558). การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม. ใน เอกสารประกอบการสัมมนา ณ อาคารรัฐสภา วันที่ 22 กรกฎาคม 2558. [ม.ป.ท.].
สถาบันพระปกเกล้า. (2564). ลักษณะหน่วยงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประเทศต่าง ๆ. สืบค้น 14 พฤษภาคม 2564, จาก http://www.kpi.ac.th/kpiuser/documents/rad/
สมชัย ศรีสุทธิยากร. (2561, 21 สิงหาคม). ประสิทธิผลแห่งกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2564, จาก http://www.matichon.weekly.com/column/article_126152
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2560). “วิกฤต” เลือกตั้ง ส.ส.57 สู่นาทียึดอำนาจ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (ม.ป.ป.). รายงานการศึกษาดูงานสาธารณรัฐเกาหลี หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 8 (พตส.8). [ม.ป.ท.].
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (ม.ป.ป.). รายงานประกอบการศึกษาดูงานต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 7 (พตส.7). [ม.ป.ท.].
อนุสรณ์ ไชยทาน. (2536). การจัดองค์กรและการบริหารศูนย์อำนวยการเลือกตั้งภายใต้แนวคิด 3 เขตยุทธศาสตร์: กรณีวิจัยปฏิบัติการเขตเลือกตั้ง ค จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
อุดม รัฐอมฤต. (2563). เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง.ใน เอกสารสรุปคำบรรยายในการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจการเลือกตั้ง. [ม.ป.ท.].
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความในวารสารฯ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความ และไม่ได้เป็นทัศนะและความรับผิดชอบของ กองบรรณาธิการ หรือ ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา