ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนในโลกเสมือนต่อการมีปฏิสัมพันธ์ ในการใช้ชีวิตจริงในสังคม

ผู้แต่ง

  • ปัทมาภรณ์ สุขสมโสด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

คำสำคัญ:

สมาร์ตโฟน, ผลกระทบของการใช้สมาร์ตโฟน, สังคมเสมือน, โลกเสมือนจริง, ปฏิสัมพันธ์ในสังคม

บทคัดย่อ

การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนของเยาวชนต่อการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟน 2) ศึกษาผลกระทบ ประโยชน์และโทษที่เกิดจากใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนของเยาวชน 3) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อการเลือกใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟน และปฏิสัมพันธ์จากการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนกับคนรอบข้าง  เป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างในรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนในเขตเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ใช้สมาร์ตโฟน   โดยได้กำหนดวิธีการดำเนินการวิจัยดังนี้ 1) การกำหนดประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง 2) การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 3) การเก็บรวบรวมข้อมูล 4) การวิเคราะห์ข้อมูล ประชากรที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย อาชีวศึกษา   ระดับอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน ที่มีอายุระหว่าง 11– 24 ปี ศึกษาเชิงปริมาณโดยเก็บตัวอย่างจำนวน 400 ราย และศึกษาเชิงคุณภาพโดยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม ทั้งนี้มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และสัมภาษณ์ผู้ปกครองของกลุ่มตัวอย่างจำนวนรวม 50 คน จากการ ศึกษาเชิงปริมาณพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนมีวัตถุประสงค์เพื่อติดต่อ    สื่อสาร เช่น Internet, e-mail, SMS, MMS ,chat มากที่สุดเป็นจำนวน 185 คน คิดเป็น ร้อยละ 46.1 มีการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนเพื่อเล่นเฟสบุ๊คมากที่สุดเป็นจำนวน 221 คิดเป็นร้อยละ 55.9 ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์งานวิจัยเชิงคุณภาพของกลุ่มนักเรียนตัวอย่าง ที่ตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพราะใช้เล่นโปรแกรมเฟสบุ๊ค เพื่อใช้ในการสนทนา ส่งรูปภาพ โพสต์รูปภาพ โพสต์ข้อความแสดงความเป็นตัวตนและอารมณ์ในช่วงเวลานั้น ส่วนข้อมูลการสัมภาษณ์ของผู้ปกครอง มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุตรใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารกับพ่อ, แม่, เพื่อนและใช้ในเรื่องการเรียน ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่มาจากเชิงคุณภาพมีพฤติกรรมการเล่นโทรศัพท์ขณะอยู่คนเดียวจำนวน 320 คน คิดเป็นร้อยละ 81 และกลุ่มตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะเล่นโทรศัพท์เมื่ออยู่คนเดียวเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนขณะที่อยู่กับกลุ่มเพื่อน และพ่อแม่ผู้ปกครองได้แสดงว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้สมาร์ตโฟนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมความเป็นจริงได้

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณมีความต้องการอยู่กับโลกเสมือนมากกว่าสังคมจริงโดยมีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ระดับบ่อย ๆ หมายถึงการมีผลกระทบต่อพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก

ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของการใช้สมาร์ตโฟนที่มีผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางหมายถึง การมีผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง และมีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการใช้สมาร์ตโฟนที่มีผลกระทบในด้านบวกคือกลุ่มตัวอย่างใช้ในการค้นข้อมูลการทำรายงานหรือการเรียนจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟน คิดเป็นค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หมายถึงการมีผลกระทบในด้านประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง เช่นกัน

ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างด้านพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนพบว่ากลุ่มตัวอย่างจะใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนในช่วงกลางคืนและอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนช่วยในการเรียน และกลุ่มตัวอย่างบางคนเท่านั้นที่เล่นทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ชอบการมีปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตามากกว่า เพราะทำให้เห็นถึงแววตาคู่สนทนาได้ จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองในด้านผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์ในการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ตโฟน พบว่าผู้ปกครองได้สังเกตการณ์บุตรหลานในปกครองของตนเอง สาเหตุที่สนับสนุนให้บุตรเล่นเพราะทำให้ลูกเปิดโลกทัศน์ได้ตลอดเวลา สามารถแสวงหาความรู้ได้ตลอดเวลาถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

จากการวิเคราะห์ผลกระทบประโยชน์และโทษที่เกิดจากใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนของเยาวชนโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) จากการสัมภาษณ์ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มผู้ปกครอง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็น ดังนี้ 1) ข้อมูลด้านประโยชน์ของการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ตโฟน  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะใช้ในการเรียน การค้นหาข้อมูล 2) ข้อมูลด้านโทษของการใช้งานสมาร์ตโฟน คือ กลุ่มตัวอย่างให้ถ่ายรูปและส่งให้เพื่อนเพื่อลอกการบ้าน ลอกงานที่ที่ได้รับมอบหมาย และ 3) ผลกระทบด้านวัฒนธรรมของวัยรุ่น ด้านภาษา และการเลียนแบบโลกออนไลน์ การก้มดูโทรศัพท์โดยไม่สนใจสังคมรอบข้างในบางครั้ง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองส่วนใหญ่คือ ต้องมีการแนะนำบุตรให้แบ่งแยกเวลาให้ถูกต้อง และไม่เล่นมากจนเกินไป หากเล่นเกมออนไลน์มากต้องสอดส่อง พร้อมทั้งต้องมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน

References

กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล. (2553). ข้อเสียและข้อควรระวังของเทคโนโลยี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้ จาก : http://www.iqraforum.com/forum/index.php?topic=3065.0;wap2. (วันที่ค้นข้อมูล 16 พฤษภาคม 2553).

กฤติมา กมล. (2554). ตัวขับและผลสืบเนื่องของการเสพติดโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท.คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุฑามณี คายะนันทน์. (2554). พฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ : เฟซบุ๊คดอทคอม.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน.

ทาริกา ปัญญาดี. (2555). ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้แอพลิเคชั่นสมาร์ตโฟนของประชาชนในกรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ปริญญาโท เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ปัญชลี ด้วงเอียด. (ตุลาคม–ธันวาคม 2550). ความพอเพียงในมิติวัฒนธรรม. สารศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม. 4(4) ,15.

ประยูรศรี มณีสร. (2536). จิตวิยาวัยรุ่น. ม.ป.พ.

ไพฑูรย์ พิมดีและคณะ. (2548). “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล”.วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น.15 (1),12

มติชนออนไลน์. (2555). วัยรุ่นไทยติด"เฟซบุ๊ก"ขั้นหนัก ทุ่มเงินซื้อ"สมาร์ตโฟน. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.matichon.co.th (วันที่ค้นข้อมูล 16 พฤษภาคม 2555).

วิทยากร เชียงกูล. (2552). จิตวิทยาวัยรุ่น:ก้าวข้ามปัญหาและพัฒนาศักยภาพด้านบวก. กรุงเทพฯ:สายธาร.

Yamane, T. (1967). Elementary Sampling Theory. USA: Prentice Hall.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-05-06