ประวัติการบันทึกโน้ตดนตรีไทย

ผู้แต่ง

  • บุญสืบ บุญเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • สุรศักดิ์ เพชรคงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

คำสำคัญ:

โน้ตเพลงไทย, มุขปาฐะ, ระดับเสียง, ระบบคอมพิวเตอร์

บทคัดย่อ

โน้ตเพลง ถือว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารของวงการดนตรีที่สำคัญมาก การเรียนการสอนดนตรีไทยในอดีตรวมถึงการบรรเลงไม่นิยมใช้โน้ตเพลง มักนิยมการเรียนการสอนด้วยวิธีมุขปาฐะ สอนกันตัวต่อตัวด้วยการบอกเล่าแล้วให้ปฏิบัติครู อยู่ในสำนักดนตรี แต่ต่อมาระบบการเรียนการสอนดนตรี  เริ่มอยู่ในระบบการศึกษาปกติที่อยู่ในชั้นเรียน ฉะนั้นการเรียนการสอนดนตรีไทยจึงต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีการใช้โน้ตเพลงมาประกอบการเรียนการสอนช่วยความจำ การบันทึกโน้ตเพลงไทยนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยราชฑูตชาวฝรั่งเศสชื่อ ลาลูแบร์ บันทึกเพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากลไว้ 1 เพลง ต่อมาในรัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบันทึกเพลงไทยใช้ประกอบการบรรเลงวงแตรวง เพื่อการเดินแถวของทหาร โดยชาวอังกฤษ ชื่อร้อยเอกอิมเปย์และร้อยเอกน็อกซ์ ต่อมากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้บันทึกเพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากลและยังมอบหมายให้พระสหายคือ นาย พอลซีริค บันทึกเพลงไทยไว้จำนวนมาก    ต่อมาพันโทพระอภัยพลรบ ได้คิดระบบโน้ตไทยโดยอาศัยพื้นฐานมาจากระบบโน้ตสากลโดยใช้ตัวอักษรไทยแทนระดับเสียง ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ได้คิดโน้ตระบบตัวเลขไทย ๙ ตัวขึ้นมา ในระยะเวลาใกล้เคียงกันได้เกิดระบบโน้ตตัวเลขของร้านดุริยบรรณ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น ต่อมาราชบัณฑิตยสภา ได้มอบหมายให้พระเจนดุริยางค์บันทึกเพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากล และกรมศิลปากรก็เริ่มบันทึกโน้ตเพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากลเช่นกัน ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ได้ 2 ชุด คือชุดโหมโรงเย็นและชุดทำขวัญ ต่อมาพระเจนดุริยางค์ได้นำระบบโน้ตเชอเว่มาบันทึกเพลงไทย  ในระยะเวลาต่อมากรมศิลปากรได้ออกวารสารเผยแพร่เพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากล ฉบับละ1 เพลง แล้วต่อมาได้นำเพลงจากวารสารนั้นมารวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อโน้ตเพลงไทยเล่ม 1 2 และ 3 ต่อมา นายสุดใจ ศรีเบ็ญจา ได้นำเสนอการบันทึกโน้ตเพลงไทยด้วยระบบโน้ตสากล ซึ่งมีวิธีการบันทึกต่างกันเล็กน้อยกับของกรมศิลปากร ต่อมาได้เกิดระบบโน้ตตัวอักษรไทย ที่เรียกว่าระบบ ด ร ม ฟ ขึ้น  ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายในปัจจุบันนี้ ต่อมาในวโรกาสแห่งปีกาญจนากรมศิลปากรได้มีการพิมพ์โน้ตเพลงไทยทั้ง 3 เล่มนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยบันทึกโน้ตสากลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดพิมพ์โน้ตเพลงไทยที่ได้ต้นฉบับมาจากอเมริกาเผยแพร่ด้วยระบบโน้ตสากล

References

กรมศิลปากร. (2493). เพลงชุดโหมโรงเย็น : Evening Prelude. London : J. Thibouville-Lamy.

กรมศิลปากร. (2498). เพลงเรื่องทำขวัญ. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. (2540). ดนตรีตะวันออก. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ชมรมศิษย์พระเจนดุริยางค์. (2536). 110 ปี ศาตราจารย์พระเจนดุริยางค์ ผู้วางรากฐานดนตรีสากลของไทย. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ชิ้น ศิลปบรรเลง. (2536). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ต.จ. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง.

ปัญญา รุ่งเรือง และคณะ. (2536). โน้ตเพลงไทยฉบับครูเล่ม2 เพลงเรื่องพระรามเดินดง : Thai Manuscript Book 2 Pleng Ruang Praram Doen Dong. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

ปิยเวช บุญชูช่วย. (2545). การบันทึกโน้ตเพลงไทย.ดุริยนิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนคริณทรวิโรฒ ประสานมิตร.

พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์. (2543). ประวัติการบันทึกโน้ตเพลงไทย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.19-20(1) : 182-215.

พระอภัยพลรบ. (2453). ประวัตินายพันโท พระอภัยพลรบ และดนตรีวิทยา. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร.

อารี สุขะเกศ. (2513). ชีวประวัติของข้าพเจ้า บันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์. วารสารมนุษยศาสตร์. เมษายน-มิถุนายน.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-04-28