การศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจการเรียนการสอนแบบ Active Learning ของนักศึกษาและการปรับปรุงพัฒนาห้องเรียน Active Learning ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Main Article Content

พีระศักดิ์ จิ้วตั้น

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) ศึกษาพฤติกรรมการเรียนในห้องเรียน Active Learning ของนักศึกษา 2.) ศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning ของนักศึกษา 3.) แนวทางการปรับปรุงห้องเรียน Active Learning ประชากรที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาจารย์และนักศึกษาที่เคยใช้ห้องเรียน Active Learning โดยกลุ่มตัวอย่างอาจารย์ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก เลือกตัวแทนอาจารย์จากแต่ละสำนักวิชาที่เคยใช้ห้องเรียน Active Learning สำหรับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่ใช้ห้องเรียน Active Learning ใช้วิธีการเก็บแบบสอบถามให้ได้มาซึ่งข้อมูล สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 191 ตัวอย่าง การวิเคราะห์ความคิดเห็นของอาจารย์ ผู้วิจัยนำมาจัดลำดับและหมวดหมู่แต่ละด้านโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) แล้วนำเสนอในลักษณะของความเรียง ผลการวิจัยสรุปได้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้


  1. ผลการศึกษาพฤติกรรมการเรียนในห้องเรียน Active Learning พบว่า ห้องเรียน Active Learning ทำให้นักศึกษามีความต้องการเข้าเรียนเป็นประจำมากที่สุด โดยอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ มีทัศนคติในการเรียนดีขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน

  2. ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning พบว่า อยากให้มีการเรียนการสอนในรายวิชาอื่น ๆ อีก เป็นความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากที่สุด โดยอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน สามารถทำงานร่วมผู้อื่นได้ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน

  3. แนวทางการพัฒนาและปรับปรุงห้องเรียน Active Learning ได้แก่ การปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ให้มีเสถียรภาพ เพื่อรองรับจำนวนการใช้งานอย่างเพียงพอและความเร็วของอินเทอร์เน็ตมีความเหมาะสม เพิ่มอุปกรณ์สื่อโสตต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น ไมโครโฟน ปลั๊กไฟ ปากกาไวท์บอร์ดและกระดานไวท์บอร์ดเคลื่อนที่ได้ จอ Screen แสดงผล ตู้ล็อกเกอร์เก็บอุปกรณ์การสอนของอาจารย์ รวมทั้งติดกระดานกระจกรอบห้องแทนผนังเขียนได้ เนื่องจากเขียนและลบได้ง่ายกว่า ประกอบกับการปรับปรุงโต๊ะให้พับและจัดเป็นวงกลมได้ง่าย มีความแข็งแรง และมีความกว้างเพียงพอเพื่อวางอุปกรณ์การเรียนได้สะดวก รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ในการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ต้องปรับปรุงห้องให้เก็บเสียงได้ มีแสงสว่างเพียงพอและมีโทนสีสว่าง และดูแลรักษาความสะอาดห้องเรียนอยู่เสมอ หากมีการปรับปรุงและเพิ่มจำนวนห้องเรียน Active Learning ในอนาคต ควรมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความแตกต่างกัน และสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนเสมอ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2557). แนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: บริษัทพริกหวานกราฟฟิคจำกัด.
กิดานันท์ มลิทอง. (2548). เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วน จำกัด อรุณการพิมพ์.
กัลยา วานิชย์บัญชา. (2557). สถิติสำหรับงานวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.
บุญชม ศรีสะอาด. (2535). การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. (2560). รายงานประจำปี 2560 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. (2560). แผนปฏิบัติการดิจิทัล ระยะ 5 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
Best, J. W., (1981). Research in Education, 4th ed. New Jersey: Prentice – Hall Inc., p. 182.
Maddox, H. (1965). How to Study. London: Wyman Lod.,
Yang. Z., Gerber. B. B., & Mino. L. L. (2013). A Study on Student Perceptions of Higher Education Classrooms: Impact of Classroom Attributes on Student Satisfaction and Performance. Building and Environment, 70: 171-188.