การพัฒนาแนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์

Main Article Content

รัชตรา สุวรรณษา

บทคัดย่อ

          การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์และความต้องการจำเป็นของการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผล และพัฒนาแนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ การวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 181 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าดัชนี PNI และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น ระยะที่ 2 การพัฒนาแนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินแนวทาง จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบประเมิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


              ผลการวิจัยปรากฏดังนี้


  1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผล พบว่า สภาพปัจจุบันของการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผล โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน และลำดับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาแนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า งานสื่อการเรียนการสอน มีความต้องการจำเป็นมากที่สุด รองลงมา คือ งานสาขาวิชา และงานวิทยบริการและห้องสมุด ตามลำดับ

                        2. ผลการพัฒนาแนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผลสำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3)กลไกการดำเนินงาน 4) แนวทางการบริหารงานวิชาการที่มีประสิทธิผล แบ่งออกเป็น 6 งาน ได้แก่ 4.1) งานสาขาวิชา 4.2) งานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน 4.3) งานวัดผลและประเมินผล 4.4) งานวิทยาบริการและห้องสมุด 4.5) งานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และ 4.6) งานสื่อการเรียนการสอน และ 5) เงื่อนไขความสำเร็จ โดยผลการประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของแนวทาง พบว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมาก

Article Details

บท
บทความวิจัย