สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน

           วารสาร HR Intelligence ฉบับนี้เป็นวารสารปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2561)  จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทีเปิดทางวิชาการให้ผู้สนใจทั้งผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักบริหารที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การและภาคส่วนต่างๆ ได้เผยแพร่ความคิด แง่มุมและความรู้ทางวิชาการ งานวิจัยและผลงานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์  ในเล่มจะประกอบด้วยคอลัมน์ และบทความวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ในมิติต่างๆ ที่หลากหลาย ภายใต้การการันตีคุณภาพของการเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI  กลุ่มที่ 1   

          ในฉบับนี้มีงานวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ 5 เรื่อง งานวิจัยเรื่องแรกคือ เจนเนอเรชั่นวายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลกับความสอดคล้องค่านิยมการทำงานระหว่างบุคคลกับองค์กรต่อความตั้งใจคงสมาชิกภาพกับองค์กร นำเสนอการวิเคราะห์ความสอดคล้องค่านิยมการทำงานระหว่างบุคคลกับองค์กรด้านการเรียนรู้และการเติบโต รางวัลภายนอกและสภาพแวดล้อมการทำงานกับความตั้งใจคงสมาชิกภาพกับองค์กรของเจนเนอเรชั่นวายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล งานวิจัยเรื่องที่สองคือ ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความยุติธรรมขององค์การ การมอบอำนาจในงานเชิงจิตวิทยา และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของข้าราชการในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง งานวิจัยเรื่องที่สามคือ การศึกษาความสัมพันธ์ของการรับรู้ความยุติธรรมในองค์การ และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ผ่านตัวแปรสื่อการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ โดยมีความต้องการส่วนบุคคลเป็นตัวแปรกำกับ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การในข้าราชการปฏิบัติงาน งานวิจัยเรื่องที่สี่คือ ถอดบทเรียนการนำเอาวิธีการเรียนรู้จากการปฏิบัติไปใช้เพื่อการพัฒนาตัวแบบสมรรถนะหลักของกรมบัญชีกลาง โดยใช้กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง ข้าราชการระดับอำนวยการ และบุคลากรระดับปฏิบัติการ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม การติดตาม การอภิปรายประเด็น และสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสกัดองค์ประกอบสำคัญของสมรรถนะหลักของกรมบัญชีกลาง

งานวิจัยเรื่องสุดท้ายคือ บทบาทของการบริหารทรัพยากรมนุษย์กับการบริหารแบบลีน : กรณีศึกษาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

          นอกจากนี้ยังมี HR Tips เรื่อง มุมมองของการวิเคราะห์ระบบการเลื่อนตำแหน่ง นำเสนอมุมมองของระบบการเลื่อนตำแหน่ง 3 ระบบ คือ การเลื่อนตำแหน่งจากภายในองค์การ การเลื่อนตำแหน่งจากภายนอกองค์การ และการเลื่อนตำแหน่งในระบบผสม

          ทางวารสารขอขอบคุณผู้ส่งบทความทุกท่านและยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีผู้สนใจเขียนและส่งบทความด้านทรัพยากรมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป  อันเป็นการสะท้อนภาพการพัฒนาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ในภาคส่วนและองค์การต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยในระดับมหภาค (Macro) หรือจุลภาค (Micro) ทั้งนี้การศึกษามิได้จำกัดสาขาวิชา แต่เป็นการเปิดกว้างในลักษณะสหวิทยาการก็จะช่วยทำให้วงการด้านทรัพยากรมนุษย์พัฒนาไปควบคู่กับศาสตร์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้      

          ในท้ายที่สุดนี้ กองบรรณาธิการ หวังว่าวารสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและหากมีข้อเสนอแนะใดในการปรับปรุงให้วารสารมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางกองบรรณาธิการขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง

ผศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล

บรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 2019-08-30