The vulnerable
Main Article Content
บทคัดย่อ
จดหมายถึงบรรณาธิการ : Mind & Body and the Vulnerable
The Vulnerable แปลเป็นไทยคือ กลุ่มเปราะบาง
หากขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็หมายถึง บุคคลที่ถูกลืมทิ้งไว้ข้างหลัง กลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับโอกาสหรือได้รับการดูแล และนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพ (Poor health outcome) ตามความหมายของ WHO
นั่นหมายถึง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนชรา คนพิการ จิตเวช ผู้ต้องขัง ต่างด้าว และ คนจน
กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ อาจไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น ต่างด้าว หรืออาจมีสิทธิแต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ เช่น คนชราหรือคนพิการ เพราะเดินทางลำบาก ไร้คนดูแล
กลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ อาจถูกมองข้าม ไม่ได้รับความสนใจ หรือถึงขั้นถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ เช่น คนพิการ ต่างด้าว คนจน
หรือที่หนักกว่านั้นคืออาจถูกลิดรอนสิทธิ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น ต่างด้าว หรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น
ที่เห็นได้ชัด กรณีโรคระบาด COVID-19 ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากร่างกายที่อ่อนแอ จากการที่อยู่กันอย่างแออัด จากความจำเป็นต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ จากไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือจากการเข้าถึงสิทธิการรักษารวมทั้งวัคซีนต่างๆเป็นกลุ่มสุดท้าย กลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มแรกที่ป่วยติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเสียชีวิตก่อนกลุ่มอื่น
และแม้ในโรคระยะท้าย กลุ่มนี้ก็มักการได้รับการรักษาน้อยกว่าคนทั่วไป ยกตัวอย่างที่น่าเศร้ารายหนึ่ง
ผู้ป่วย ชื่อ นายเพชร อายุ 34 ปี
เป็นมะเร็งที่โคนลิ้น กว่าจะได้มารักษา มะเร็งก็ลุกลามไประยะสุดท้ายเสียแล้ว ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้
การฉายแสงแบบประคับประคอง (Palliative Radiation) ทำไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ และ ไม่มีเงินเดินทาง ทำได้แค่การดูแลแบบประคับประคอง
วันแรกที่เราพบกันที่คลินิกประคับประคอง เพชรร่างกายผอมแห้ง จนประคองตัวเดินไม่ไหว ต้องนั่งรถเข็น ที่เป็นจุดเด่นคือ หน้าที่บิดเบี้ยวจากก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่ขยายขนาดจนเต็มครึ่งซีกหน้า ก้อนนี้นอกจากทำให้หน้าตาอัปลักษณ์ ไม่น่ามองแล้ว ก็ยังทำให้เกิดความปวดอย่างมาก ทำให้กลืนอาหารไม่ได้ ต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก และทำให้ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารได้ ทุกครั้งที่ถาม เขาจะใช้วิธีสื่อสารด้วยการพยักหน้า รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง
โชคดีที่เพชรมักมาพร้อมกับหญิงวัยกลางคน ซึ่งพอสอบถาม จึงได้ทราบว่าเป็นเพื่อนบ้าน สงสารว่าเพชรเป็นคนไร้บ้าน มาอาศัยในโกดังร้างข้างบ้านตนพียงลำพัง เห็นนอนร้องครวญครางจากก้อนมะเร็ง สงสาร จึงพามารักษา ทุกครั้งจะขับรถกระบะให้เพชรนั่งท้ายรถมาส่งที่โรงพยาบาล
จนวันนึงเราได้ลงเยี่ยมบ้าน จึงได้เห็นสภาพโกดังร้างสกปรกที่เพชรอาศัย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำ มีเพียงฟูกเก่าๆวางปูบนพื้นเป็นที่นอน มีเสื้อผ้าไม่กี่ตัวขาดๆเก่าๆวางอยู่ มีกาต้มน้ำเล็กๆ 1 ใบที่เพื่อนบ้านจะต้มน้ำมาให้และนำมาวางไว้ทุกวัน เพื่อให้เพชรได้ชงนมและ Feed ตัวเอง จริงๆสถานที่ที่เราไปเยี่ยมไม่สามารถเรียกได้ว่าบ้านได้เลย
เนื่องจากเพชรไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ ทีมจึงประสานสังคมสงเคราะห์ เพื่ออนุเคราะห์ค่ารักษาต่างๆ ประสานท้องถิ่นเพื่อทำบัตรประชาชนให้เพชร เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น แต่ทุกฝ่ายไม่มีใครกล้ารับรองว่าเพชรเป็นญาติ จึงไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ เราพยายามประกาศตามหาญาติ แต่ก็ไม่พบ หมอและทีมประคับประคองทำได้เพียงให้ยาบรรเทาความเจ็บปวด บริจาคเงินซื้อนม Blendera ให้เพชรทุกครั้งที่มารับยา รับบริจาคเสื้อผ้า ของใช้ และนมเพื่อให้เพชรได้พอประทังชีวิต
เพชรอาการทรุดลงเรื่อยๆ ตามระยะของโรค ก้อนโตขึ้นจนสายให้อาหารตีบ ไม่สามารถรับ Feed ได้อีกต่อไป ทำให้ผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เราจึงปรับยาเป็นแผ่นแปะและยาน้ำ แทนยาเม็ดที่กลืนไม่ได้
หลังจากนั้นไม่นาน เพชรเสียชีวิตลงอย่างสงบ ที่โกดังร้าง เพียงลำพัง
เพื่อนบ้านที่ไปพบศพ แจ้งว่านอนหลับอย่างสงบ ไม่มีท่าทางทุรนทุราย และนั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทีมยากได้ยิน ว่าเพชรจะไม่ต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป ...เพราะสำหรับบางคน ความตาย ก็อาจจะสวยงามกว่าการมีชีวิต...
ทีมประคับประคองได้บริจาคโลงศพให้เพชร และเพื่อนบ้านช่วยกันตั้งศพที่วัด 1 คืนแล้วเผา เป็นงานศพที่เรียบง่ายที่สุดที่เคยไป ไม่มีงานเลี้ยง ไม่มีญาติ ไม่มีการสวดใดๆ มีเพียงโลง 1 ใบ กับทีมประคับประคอง 3 คน และเพื่อนบ้าน 1 คน
เพชรเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย พูดไม่ได้ ไม่มีบ้าน ไม่มีคนดูแล ไม่มีสิทธิการรักษา และด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เชื่อว่ายังมีคนกลุ่มเปราะบางอีกมากที่รอคอยความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน
แม้ในประเทศไทย โชคดีที่มีสิทธิบัตรทอง 30 รักษาทุกโรคเป็นสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคน และมีการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมให้ต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยให้ประชากรส่วนใหญ่ได้รับการดูแลและเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐานได้ง่ายขึ้น แม้ในความเป็นจริง จะยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มเปราะบางกับคนทั่วไปอยู่บ้าง และคนจนก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ไม่ได้แก้ที่สาธารณสุขเท่านั้น แต่คงต้องเป็นความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาแรงงาน เช่น การป้องกันการลักลอบเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย สนับสนุนการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนจน คนพิการ จัดสวัสดิการแก่กลุ่มเปราะบางที่เหมาะสม เช่น ยกระดับบ้านพักคนชราหรือ Hospice เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต เพื่อให้ทุกคนเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
No one is left behind.
เพื่อที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกต่อไป
พญ.ฐิตินาถ ศุภเศรษฐวิทย์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลตรัง
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร PCFM ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร PCFM ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสาร PCFM หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสาร PCFM ก่อนเท่านั้น