ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ วิชาเวชศาสตร์ครอบครัวให้นักศึกษาแพทย์ต่างชาติ โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช

Main Article Content

เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ

บทคัดย่อ

ปัจจุบันวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นที่สนใจของนักศึกษาแพทย์มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มีบทบาทด้านการเรียนการสอนวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ให้กับนักศึกษาแพทย์ต่างชาติที่เลือกมาศึกษาดูงานในวิชาเลือก (Elective)  โรงพยาบาลสิชลเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ เข้าศึกษาดูงานตั้งแต่ปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์การรับนักศึกษา เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างแพทย์ไทยและแพทย์นานาชาติ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ กิจกรรมการจัดการเรียนรู้มีทั้งในโรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิต่างๆ รวมทั้งกระบวนการดูแลผู้ป่วยในชุมชนและการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ตลอดระยะเวลาการรับนักศึกษารวม 12 ปี มีนักศึกษาแพทย์ต่างชาติเข้าศึกษาดูงานที่ รพ.สิชล รวม 81 คน จาก 9 ประเทศ ส่วนใหญ่มาจากประเทศ สหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 27.16 รองลงไปคือ ประเทศออสเตรีย คิดเป็นร้อยละ 25.92 แต่ภาพรวมนักศึกษาจะมาจากประเทศในทวีปยุโรปมากที่สุด  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกิจกรรมสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้คิดเป็นร้อยละ 91.35 ความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษา คิดเป็นร้อยละ 93.82 ระยะเวลาการเข้าศึกษามีความเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 86.42 บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่สำคัญ คือ การเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา (Preceptor) ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาการ และการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอน/กระบวนการเรียน ชี้แนะการเรียนในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเป็นที่ปรึกษา (Advisor) คอยช่วย เชื่อมประสานระหว่างแผนกต่างๆ ช่วยสื่อสารการทำงาน และสะท้อนกลับให้นักศึกษาได้รับรู้ถึงคุณค่าที่พวกเขาได้ปฏิบัติ รูปแบบการจัดการเรียนการสอน ขึ้นกับผู้เรียนเป็นหลัก มีการร่วมค้นหาจุดร่วมของเป้าหมายการเรียนกับผู้เรียน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จ

Article Details

How to Cite
1.
บท
บทความพิเศษ