รูปแบบการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนา ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ผู้แต่ง

  • บุญส่ง ทิ้งชั่ว คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • วิทยาธร ท่อแก้ว
  • กานต์ บุญศิริ

คำสำคัญ:

การสื่อสาร, การมีส่วนร่วม, การกำหนดนโยบาย, จังหวัดสกลนคร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เกี่ยวกับ 1) กระบวนการสื่อสาร 2) รูปแบบการสื่อสาร และ 3) แนวทางพัฒนาการสื่อสาร การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักแบบเจาะจงจากผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการสื่อสารโดยตรงไม่น้อยกว่า                               4 ปี รวมจำนวน 15 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสร้างข้อสรุป

ผลการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาตำบลนาโพธิ์ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) ผู้ส่งสารเป็นผู้มีหน้าที่ร่วมในการปฏิบัติงานโดยตรง ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านในตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล แกนนำ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ผู้นำองค์กรทางการศึกษา ผู้นำศาสนา และประชาชน (2) สาร มีประเด็นหลัก ได้แก่ ความร่วมมือของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล นโยบายและแนวทางการพัฒนาตำบล ผลที่จะได้รับจากนโยบายและแนวทางการพัฒนาตำบล (3) ช่องทางการสื่อสารมีการใช้ช่องทางแบบผสมผสาน ได้แก่ หอกระจายเสียง เฟซบุ๊ก โทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ การประชุมกลุ่ม (4) ผู้รับสารเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการพัฒนาตำบล ได้แก่ ประชาชนในตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข บุคลากรในสถานศึกษา บุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สมาชิกกลุ่มอาชีพต่าง ๆ 2) รูปแบบการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วม มี 3 รูปแบบผสมผสานกัน ได้แก่ (1) การร่วมรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิด (2) การร่วมประชุมประชาคมตำบล (3) การร่วมรับข้อมูลเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 3) แนวทางพัฒนาการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาตำบล มี 4 แนวทาง คือ (1) ด้านผู้รับสารและผู้ส่งสารต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้อธิบาย ชี้แจง และโน้มน้าวให้เกิดการคล้อยตาม (2) ด้านข้อมูลข่าวสารต้องคัดเลือกข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นในการนำเสนอนโยบายการพัฒนา (3) ด้านช่องทางการสื่อสารต้องมีความหลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมและเครื่องมือของผู้รับสาร (4) ด้านสภาพแวดล้อมในการสื่อสารการประชุมประชาคมต้องจัดสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้เหมาะสมสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

06-10-2022

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)