การพัฒนามัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เจ็ดคต – โป่งก้อนเส้า ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ผู้แต่ง

  • ถวิล ภูธร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
  • ศิวาพร พยัคฆนันท์
  • อัครเดช สุพรรณฝ่าย

คำสำคัญ:

มัคคุเทศก์น้อย, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, ศูนย์ศึกษาธรรมชาติเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทศักยภาพ ปัญหา อุปสรรคของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2) ศึกษาคุณลักษณะของมัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนามัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยประยุกต์ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย 2 กลุ่มตามวัตถุประสงค์การวิจัย คือ 1) เจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า บุคลากรของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ผู้นำชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่ ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 14 คน และ 2) มัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำนวน 260 คน ใช้การสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามและแบบสนทนากลุ่ม ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้หลักวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา พบว่า

  1. ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่ติดต่อกับด้านตะวันตก ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ เมื่อวิเคราะห์ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ตามแนวคิดของ Dickman (1996) พบว่า  1) สิ่งดึงดูดใจ (Attraction) คือ อ่างเก็บน้ำซับป่าว่าน น้ำตกเจ็ดคดเหนือ เจ็ดคดกลาง  เจ็ดคดใต้  น้ำตกเขาแคบและน้ำตกโกรกอีดก รวมถึงบรรยากาศโดยรอบที่มีความเป็นธรรมชาติ และอากาศหนาวเย็นในฤดูกาลท่องเที่ยว 2) การเดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยว (Accessibility) เส้นทางเข้า-ออก มีความสะดวกสบาย จากตัวเมืองสระบุรี นักท่องเที่ยวสามารถไปตามทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ 3) การบริการที่พัก (Accommodation) มีห้องพัก บ้านพักและเต็นท์  ไว้บริการนักท่องเที่ยว 4) กิจกรรมการท่องเที่ยว (Activities) ประกอบด้วย กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมการศึกษาด้านพืชสมุนไพรในท้องถิ่น กิจกรรม  การเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า กิจกรรมการเข้าค่ายพักแรม กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และกิจกรรมการพักแรมกลางป่า 5) สิ่งอำนวยความสะดวก (Destination Amenities) มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จุดบริการ WIFI ห้องน้ำ ศูนย์อาหารและห้องประชุม การจัดการท่องเที่ยวมีปัญหา อุปสรรค คือ 1) บุคลากรทางการท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์น้อย หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะไม่สามารถให้บริการนำเที่ยวได้อย่างเต็มที่ 2) นักท่องเที่ยว ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินศึกษาตามเส้นทางธรรมชาติส่งผลผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว 3) ผู้นำเที่ยว มีจำนวนมัคคุเทศก์ในพื้นที่ที่สามารถนำเที่ยวได้จำนวนน้อย และมีการปรับเปลี่ยนบ่อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนที่มีภารกิจในครอบครัว ทำให้การปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่องและ 4) การมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวยังเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวไม่มากนัก
  2. คุณลักษณะของมัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 58.1 มีอายุระหว่าง 10-15 ปี คิดเป็น ร้อยละ 84.6 และอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 8.5 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 84.6 และการศึกษาระดับมัธยมศึกษา/ปวช./ปวส. คิดเป็นร้อยละ 11.2 และมีอาชีพเป็นนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 84.6 และอาชีพอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 8.9 มีความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณลักษณะมัคคุเทศก์น้อยสำหรับการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อันดับสูงสุดคือ ด้านจริยธรรมในวิชาชีพมัคคุเทศก์อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.99 ; S.D. = 0.01) อันดับรองลงมาคือ ด้านทักษะการปฏิบัติงาน อยู่ในระดับมาก (  = 4.24 ; S.D. = 0.44) และอันดับสุดท้ายคือ ด้านความรู้ อยู่ในระดับมาก  (  = 3.23 ; S.D. = 0.39) ตามลำดับ
  3. แนวทางการพัฒนามัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า ได้แก่ 1) การพัฒนาด้านความรู้ ทักษะการปฏิบัติงานและด้านจริยธรรมในวิชาชีพมัคคุเทศก์ โดยควรมีกิจกรรมการให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นมัคคุเทศก์น้อย สร้างจริยธรรมในวิชาชีพมัคคุเทศก์ให้กับมัคคุเทศก์น้อย และพัฒนามัคคุเทศก์น้อยกลุ่มใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มจำนวนให้มีมัคคุเทศก์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มากขึ้น รวมถึงจัดทำคู่มือมัคคุเทศก์น้อยเพื่อให้มัคคุเทศก์น้อยใช้ในการศึกษาและใช้เป็นคู่มือในการนำเที่ยว 2) การสร้างแรงจูงใจในการเป็นมัคคุเทศก์น้อย เพื่อให้มีมัคคุเทศก์น้อยปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การยกย่องเชิดชูมัคคุเทศก์น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่โดยการให้เกียรติบัตร การจัดเสื้อผ้า-เครื่องแบบนำเที่ยวให้เพื่อสร้างความภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการมีระบบจ่ายค่าตอบแทนการนำเที่ยวให้กับมัคคุเทศก์น้อย เป็นต้น 3) การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย การทำความร่วมมือชุมชน หรือโรงเรียนในพื้นที่ โดยกำหนดวัตถุประสงค์และกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่  มีส่วนร่วมกับการจัดการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกรักและภูมิใจในตนเอง ท้องถิ่น  และชุมชนและจะเกิดการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกันได้ในที่สุด

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-01-2021

How to Cite

ภูธร ถ., พยัคฆนันท์ ศ., & สุพรรณฝ่าย อ. (2021). การพัฒนามัคคุเทศก์น้อยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เจ็ดคต – โป่งก้อนเส้า ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี. วารสารการบริหารการปกครองและนวัตกรรมท้องถิ่น, 4(3), 249–266. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JLGISRRU/article/view/244309

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)