บทบาทของสภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

ผู้แต่ง

  • พระปลัดสุระ จันทึก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
  • อรพิน ปิยะสกุลเกียรติ
  • พระครูปัญญา สุธรรมนิเทศก์
  • เฉลิมพล ไวทยางกูร
  • พระมหายุทธพิชาญ โยธสาสโน

คำสำคัญ:

บทบาท, สภาองค์กรชุมชน, การพัฒนา, เศรษฐกิจฐานราก

บทคัดย่อ

        งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบทบาทของสภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ 2) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบทบาทของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดสุรินทร์และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างบทบาทของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดสุรินทร์ วิธีดำเนินการวิจัย เป็นการศึกษาการวิจัยแบบผสานวิธี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากสมาชิกสภาองค์กรชุมชนจำนวน 368 ชุด การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 12 คน จากนั้นนำผลวิจัยที่ได้มาสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน เพื่อสรุปผลบทบาทของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และสถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

             ผลการวิจัยพบว่า

  1. บทบาทของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสุรินทร์โดยรวม พบว่าอยู่ในระดับมาก ( = 3.62, S.D. = 0.11) เมื่อพิจารณาจากรายด้าน พบว่า ด้านมีความเป็นเจ้าของร่วมกันมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.24, S.D.= 0.57) รองลงมาได้แก่ ด้านการสร้างความร่วมมือในทุกระดับและทุกมิติ ( =3.89, S.D.= 0.50) และน้อยที่สุดได้แก่ ด้านการจัดการระบบการเงินของชุมชน ( =3.10, S.D.= 0.56)
  2. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบทบาทสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดสุรินทร์ พบว่า สมาชิกสภาองค์กรชุมชนยังไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ทักษะและประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดมีน้อย ส่งผลต่อการจำหน่ายสินค้าของชุมชน การมุ่งเน้นการจัดเวทีประชุมสัมมนาเพื่อจัดสรรงบประมาณมากกว่าการลงปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ สมาชิกชุมชุมชนมีรายชื่อในทำเนียบสภาองค์กรชุมชนในการจัดตั้ง จดแจ้งองค์กรชุมชนเพื่อให้ครบองค์ประกอบที่ พอช. กำหนดไว้เท่านั้นแต่บางชุมชนมิได้ดำเนินการต่อแต่อย่างไร การสร้างความเข้าใจให้สมาชิกในตำบลยอมรับต่อสภาองค์กรชุมชนตำบลยังทำได้น้อย กลไกในการดำเนินงานยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ ระบบอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงคที่ต้องการได้
  3. แนวทางการเสริมสร้างบทบาทของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านในแต่ละชุมชนต้องมีเจตนารมณ์เดียวกันในการจัดตั้งองค์กรชุมชน โดยมีอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการรวมพลังที่เข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน แต่ละชุมชนสามารถจัดการตนเองได้มีการจัดตั้งกองทุนชุมชนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนสร้างอาชีพและสร้างงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ และการเรียนรู้การจัดการระบบการเงิน นำวัฒนธรรมแบบเครือญาติมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีการส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิต รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการจัดการตนเองของชุมชน เสริมสร้างทัศนคติเกี่ยวกับความเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม หาความโดดเด่นของชุมชนตนเองเพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน โดยการดำเนินการทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกันและเกิดความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

03-09-2020

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)