แนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
คำสำคัญ:
การมีส่วนร่วมของชุมชน, แนวทางแก้ไข, ปัญหาผักตบชวาบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แนวคำถามในการสัมภาษณ์ และประเด็นในการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ผู้นำชุมชน และประชาชน
ผลการวิจัย พบว่า 1. สถานการณ์ปัญหาผักตบชวาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ในระยะ 1 ปี สามารถแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 5 ช่วง กล่าวคือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ กระจุกตัวหนาแน่น และเกิดการเน่าเสียจนต้องบริหารจัดการเพื่อกำจัด ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน ปริมาณน้อยเนื่องจากการกำจัดช่วงที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน กระจุกตัวหนาแน่นเนื่องจากการเจริญเติบโต และการรับผักตบชวาที่ถูกดันออกมาจากต้นน้ำ จนต้องบริหารจัดการเพื่อกำจัด ช่วงที่ 4 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม ปริมาณน้อยในหน้าฝน เนื่องจากระดับน้ำสูงและไหลแรง เกิดการผลักดันออกสู่ทะเล และช่วงที่ 5 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคมเริ่มเจริญเติบโต และสะสมจนก่อให้เกิดวิกฤติในช่วงที่ 1
- ผลกระทบของปัญหาผักตบชวาที่มีต่อประชาชน พบว่า มีผลกระทบด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านทัศนียภาพ 2) ด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ และ 3) ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาของเทศบาลตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 1) การเพิ่มมูลค่าให้แก่ผักตบชวาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน 2) กลไกการบูรณาการระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และ 3) ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน 4) การกำจัดด้วยการใช้ยาปราบศัตรูพืช และการใช้เรือฟันผักตบชวา ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีข้อจำกัดที่สำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1) ขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 2) ข้อจำกัดด้านกฎ ระเบียบของทางราชการ และ 3) ขาดความต่อเนื่องในเชิงภารกิจในการแก้ไขปัญหา