แนวทางการพัฒนาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • ธาตรี มหันตรัตน์
  • สิริพัฒถ์ ลาภจิตร

คำสำคัญ:

แนวทางการพัฒนา, การอนุรักษ์และฟื้นฟู, มรดกโลก, แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรม, อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันปัญหา และแนวทางการพัฒนาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยการวิจัยเชิงปริมาณ สอบถามเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้นำชุมชน ประชาชนและนักท่องเที่ยว จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้แทนภาคเอกชน/ร้านค้าและผู้แทนชุมชนจำนวน 15 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า

          สถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาสาเหตุ พบว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการดูแลบำรุงรักษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้จะได้รับการดูแล แต่ยังประสบปัญหาการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน สาเหตุสำคัญที่ทำให้แหล่งมรดกโลกในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา มีสภาพชำรุดทรุดโทรมสูญหายและถูกทำลาย ได้แก่ 1) การกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2)  เมืองอยุธยามีสภาพเป็นเมืองใหม่ซ้อนทับเมืองเก่า 3) การบริหารจัดการมรดกโลก 4) การบังคับใช้กฎหมายตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ 5) โครงสร้างและวัสดุที่ใช้สร้างโบราณสถานเสื่อมสภาพลง และ 6) การดำเนินการต่อแหล่งโบราณสถานที่มุ่งเน้นให้อำนาจกับรัฐบาลกลาง โดยละเลยความสำคัญของบทบาทหน้าที่ต่อโบราณสถานของชุมชนหรือสังคมท้องถิ่น  

          แนวทางการพัฒนาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรม พบว่า โดยภาพรวมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอันดับแรก คือ ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการมีส่วนร่วม และด้านบริการและการท่องเที่ยว เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อใน 5 อันดับแรกได้แก่ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แผนแม่บทการควบคุมการใช้พื้นที่อย่างเคร่งครัด การจัดสรรงบประมาณดูแลรักษาโบราณสถานและพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่อง การดูแลรักษาหรือให้ความคุ้มครองต่อมรดกโลกและพื้นที่โดยรอบตามอนุสัญญามรดกโลกและพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว สร้างการจูงใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้การปฏิบัติภารกิจต้องมีแผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-06-2020

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)