รูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์กูยในเขตอีสานตอนล่างประเทศไทย
คำสำคัญ:
รูปแบบ, คุณภาพชีวิต, ภูมิปัญญา, ประเพณี, กลุ่มชาติพันธุ์กูยบทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์กูยในเขตอีสานตอนล่าง กลุ่มประชากรเป็นชาวกูยตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ และชาวกูยตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้นำอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้นำพิธีกรรม ผู้นำศาสนา ผู้นำวัฒนธรรมและประชาชนพื้นที่เป้าหมาย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มย่อยการสังเกตอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ชาวกูยมีความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษและศาสนาพุทธผสมกัน ก่อเกิดภูมิปัญญาสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน รูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐาน การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายภาพ จิตใจ สังคมสิ่งแวดล้อมและปัญญา คุณภาพชีวิตในด้านกายภาพเป็นการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารเครื่องนุ่งห่มและการรักษาโรค คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ การสร้างที่อยู่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ คุณภาพชีวิตทางจิตใจเชื่อมโยงกับความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษ ชาวกูยเชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้นยังสถิตคอยดูแลลูกหลาน ชาวกูยจึงเซ่นผีบรรพบุรุษสม่ำเสมอช่วยสร้างคุณภาพชีวิตด้านจิตใจและภาวะด้านอารมณ์ คุณภาพชีวิตด้านสังคม ชุมชนชาวกูยเป็นสังคมปิดไม่ซับซ้อนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติเดียวกัน มีผู้นำสายตระกูลที่สูงอายุเป็นแบบแผนดำเนินชีวิตและเป็นผู้นำพิธีกรรมก่อเกิดความมั่นใจแก่ผู้คนในชุมชน คุณภาพชีวิตด้านปัญญาเป็นความเข้าใจโลกและชีวิต การประกอบอาชีพ การป้องกันและแก้ไขปัญหารูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์กูยมีลักษณะเป็นกระบวนการและเป็นองค์รวม จากรูปธรรมสู่นามธรรมคือจิตใจและปัญญา เป็นองค์รวมครอบคลุมถึงด้านกายภาพจิตใจและอารมณ์ สิ่งแวดล้อม สังคมและปัญญา สัมพันธ์กันทั้งคุณภาพชีวิตระดับปัจเจกและสังคม