การจัดการสาธารณูปการเพื่อการรักษาอุโบสถศีลของวัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
คำสำคัญ:
สาธารณูปการบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการจัดการงานด้านสาธารณูปการเพื่อการรักษาอุโบสถศีลของวัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี 2) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการจัดการสาธารณูปการเพื่อการรักษาอุโบสถศีลของวัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research)
โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) จากแบบสอบถาม (Questionnaire) ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณ โดยประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ที่เข้ามารักษาอุโบสถศีลในวัดบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย จากการหาด้วยวิธีการของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 250 คน ประมวลผลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป ใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการอธิบายลักษณะข้อมูลทั่วไป เพื่อทดสอบสมมติฐานระหว่างตัวแปรที่ทำการศึกษาว่า มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ โดยการใช้การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างเป็นสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 182 คน คิดเป็นร้อยละ 72.8 มีสถานภาพสมรส จำนวน 144 คน คิดเป็นร้อยละ 57.6 มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จำนวน 224 คน คิดเป็นร้อยละ 89.6 มีระดับการศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวน 220 คน คิดเป็นร้อยละ 88.0 ประกอบอาชีพเกษตรกร จำนวน 133 คน คิดเป็นร้อยละ 53.2 และมีรายได้/เดือน 4,000-7,000 บาท จำนวน 157 คน คิดเป็นร้อยละ 62.8
การจัดการสาธารณูปการเพื่อการรักษาอุโบสถศีลของวัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี 1) ด้านสภาพแวดล้อม ปัญหาและอุปสรรค ห้องน้ำ มีลักษณะเก่า ผู้สูงอายุไม่สะดวกในการใช้งาน ขาดงบประมาณในการพัฒนาให้มีความพร้อม ความเหมาะสม และเพียงพอต่อการใช้งาน ข้อเสนอแนะ ปรับปรุงห้องน้ำ ใช้สุขภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ จัดหางบประมาณสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาชน 2) ด้านรูปแบบพิธีการ ปัญหาและอุปสรรค ผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนามีจำนวนน้อย ผู้นำในการประกอบพิธีทางศาสนายังขาดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักประเพณีแบบโบราณ ทำให้วัฒนธรรมประเพณีแบบโบราณค่อย ๆ หายไป ผู้รักษาอุโบสถศีลมีจำนวนน้อยลง ขาดพระอาจารย์ ที่จะมาสอนวิปัสสนากรรมฐาน และแนะนำวิธีการสวดมนต์ ข้อเสนอแนะ ควรปลูกฝั่งให้เยาวชนรู้จักการรักษาอุโบสถศีลและเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ในการประกอบพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรักษาอุโบสถศีล เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อไป และ 3) ด้านความต้องการ ปัญหาและอุปสรรค ขาดงบประมาณในการบูรณะ พัฒนา และสร้างสภาพแวดล้อมของอุโบสถศีลให้มีความเหมาะสม และเพียงพอ ข้อเสนอแนะ จัดหางบประมาณสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาชน