การแปรและการเปลี่ยนแปลงวรรณยุกต์ไทดำ

Main Article Content

สมทรง บุรุษพัฒน์

Abstract

บทความนี้ศึกษาการแปรและการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ในภาษาไทดำตามตัวแปรอายุและภูมิภาค เป็นกรณีศึกษาในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษา 24 คน จาก 3 ช่วงกลุ่มอายุ จำนวน 8 ชุมชน โดยประยุกต์แนวคิดการศึกษาระบบวรรณยุกต์ใช้กล่องทดสอบวรรณยุกต์ของ Gedney (1972) ส่วนการศึกษาสัทลักษณ์ของวรรณยุกต์ ใช้การฟังเป็นหลักและใช้วิธีการทางกลสัทศาสตร์มาสนับสนุนผลการฟัง ผลการศึกษาพบว่า ผู้พูดภาษาไทดำทุกวัยในทุกถิ่นยังคงใช้ระบบวรรณยุกต์เหมือนกัน กล่าวคือ มีวรรณยุกต์จำนวน 6 วรรณยุกต์ที่เกิดจากการแยกเสียงของวรรณยุกต์ดั้งเดิม A, B, C, DL, DS เป็นสองทางคือ ABCD123-4 วรรณยุกต์ DL รวมเสียงกับวรรณยุกต์ DS วรรณยุกต์ DLDS123 และ DLDS4 รวมเสียงกับวรรณยุกต์ B123 และ B4 ตามลำดับ แม้ว่าการแยกเสียงและรวมเสียงของวรรณยุกต์เหมือนกันในทุกภูมิภาค สัทลักษณะของวรรณยุกต์มีการแปรตามอายุและภูมิภาค ถึงแม้จะมีการแปรของสัทลักษณะวรรณยุกต์ ก็สามารถกำหนดสัทลักษณะหลักของวรรณยุกต์ทั้งหกโดยพิจารณาจากสัทลักษณะที่มีความถี่ของการออกเสียงมากที่สุด วรรณยุกต์ A123 มีสัทลักษณะหลักกลางต่ำตกขึ้น วรรณยุกต์ A4 มีสัทลักษณะหลักกลางต่ำขึ้นตก วรรณยุกต์ B123 มีสัทลักษณะหลักกลางต่ำตกขึ้นสูง วรรณยุกต์ B4 มีสัทลักษณะหลักกลางระดับ วรรณยุกต์ C123 มีสัทลักษณะหลักกลางต่ำ ตกบีบที่เส้นเสียง และวรรณยุกต์ C4 มีสัทลักษณะหลักกลางตก บีบที่เส้นเสียง สัทลักษณะวรรณยุกต์ของผู้พูดวัยหนุ่มสาวบางคนในบางจังหวัดแตกต่างจากสัทลักษณะหลัก และไม่ปรากฏลักษณะการบีบที่เส้นเสียงของวรรณยุกต์ C4

Article Details

Section
Research Articles