การต่อรองเชิงอำนาจและการเปลี่ยนแปลงความหมายของผัดไทย: จากเมนูชาตินิยมสู่อาหารไทยยอดนิยม

Main Article Content

พูนผล โควิบูลย์ชัย

Abstract

การบริโภคอาหารของมนุษย์ไม่ได้เป็นไปเพราะเหตุผลทางชีวภาพเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นกิจกรรมที่มีความหมายเชิงวัฒนธรรมซ่อนอยู่เสมอ นับตั้งแต่การถูกกำหนดว่าสิ่งไหน ใครควรบริโภคได้หรือไม่ และมีวิธีบริโภคอย่างไร ในโอกาสใด การบริโภคอาหารเป็นการบริโภคความหมาย เป็นกระบวนการผลิตซ้ำความหมาย หรือในบางครั้งก็เป็นการสร้างความหมายใหม่ให้อาหาร อาหารกับวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีการเข้ามาปะทะต่อรองความหมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บทความชิ้นนี้เป็นการสังเคราะห์งานเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐในฐานะผู้สร้างและกำหนดความหมายของอาหารที่รู้จักกันในนามของ “ผัดไทย” เพื่อใช้ในการควบคุมจัดระเบียบทางวัฒนธรรมของคนในประเทศให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นไทยในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ต่อมาผัดไทยมีความหลากหลายทั้งประเภทและส่วนผสม ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิมที่ถูกกำหนดอย่างตายตัวและอยู่ในลักษณะของการชักจูงจากรัฐ จวบจนถึงปัจจุบัน ผัดไทยยังได้ถูกทำให้กลายเป็นอาหารประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นไทยที่ผู้คนต่างชาติแสวงหาบริโภคได้ในยุคโลกาภิวัตน์ ผัดไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ต่อรองความหมาย ด้วยการนิยามความหมายใหม่ เป็นพื้นที่ท้าทายอำนาจของรัฐเมื่อครั้งประดิษฐ์อาหารชนิดนี้ขึ้นมาในครั้งแรก

Article Details

Section
Research Articles