ภาษาเพื่อการสื่อสารในสื่อท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

Main Article Content

ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ

Abstract

สื่อท้องถิ่นเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่มีความสำคัญในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการนำเสนอออกมาในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ที่ต้องอาศัยภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษามลายูอักษรยาวี ภาษามลายูอักษรไทย ภาษามลายูอักษรรูมี และภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอาหรับ เป็นต้น บทความนี้นำเสนอการศึกษาวิจัยสื่อท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่แนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและสำรวจประเภท รูปแบบ และลักษณะของภาษาในสื่อท้องถิ่นที่ปรากฏในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ทดสอบทักษะความสามารถในการอ่านและการเข้าใจภาษาต่างๆ (ภาษาไทย ภาษามลายูอักษรยาวี ภาษามลายูอักษรรูมีและภาษามลายูปาตานีอักษรไทย) ของคนในพื้นที่ และ 3) วิเคราะห์ความสามารถในการอ่านและเข้าใจภาษาต่างๆ ของคนในพื้นที่

ผลการวิจัยพบว่า สื่อท้องถิ่นที่ปรากฏในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ประกอบด้วย 6 ประเภท คือ 1) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 2) นิตยสาร วารสารและจุลสาร 3) หนังสือ คู่มือและเอกสารทางวิชาการ 4) สื่อวิทยุและโทรทัศน์ 5) สื่อบุคคลในชุมชน และ 6) สื่อเฉพาะกิจในชุมชน (เช่น การ์ดต่างๆ แผ่นพับ ใบปลิว ใบประกาศ และป้ายชื่อต่างๆ) ส่วนผลการทดสอบทักษะความสามารถในการอ่านและเข้าใจภาษาต่างๆ ของคนในพื้นที่พบว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีทักษะความสามารถในการอ่านและเข้าใจภาษาไทยดีที่สุด รองลงมาคือ ภาษามลายูอักษรยาวี และภาษามลายูอักษรรูมีตามลำดับ (ทั้งในระดับคำ ประโยค และเนื้อเรื่อง) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาภาษาและการสำรวจสถานการณ์ภาษาของประชากรไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจคือ ค่าร้อยละของทักษะความเข้าใจต่ำกว่าทักษะการอ่าน (ในทุกภาษา) และผู้ให้ข้อมูลที่เรียนสายสามัญและศาสนาควบคู่กันมีทักษะการอ่านและความเข้าใจภาษาต่างๆ ดีกว่าผู้ที่เรียนสายสามัญอย่างเดียวหรือสายศาสนาอย่างเดียว เป็นต้น

Article Details

Section
Research Articles